จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันจันทร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2555

ต้มจืดตำลึง

                             ตำลึงที่ปลูกไว้มันเลื้อยสูงเกินไม้ที่ปักไว้ให้ เราเลยต้องเด็ดออก และวันนี้ก็เลยเอามาทำต้มจืดอีกรูปแบบหนึ่ง
เครื่องประกอบ (สำหรับ ๑ ที่):-
ใบตำลึง ๑ กำมือ [ใครไม่มีก็ใช้ใบผักโขม(spinach) แทนได้]
หมูสับ ๑/๔ ถ้วยตวง (มากน้อยกว่านี้ได้ ใช้เนื้อสัตว์อื่นแทนได้ หรือไม่ใส่ก็ได้)
ไข่ไก่ ๒ ฟอง
ซอสถั่วเหลือง ๑ ช้อนโต๊ะ (สำหรับน้ำแกง)
ซอสถั่วเหลือง ๑ ช้อนชา (สำหรับส่วนผสมไข่)
น้ำสะอาด ๑ ๑/๒ ถ้วยตวง
กระเทียมเจียว ๑ ช้อนชา
วิธีทำ:-
ล้างใบตำลึงให้สะอาด แล้วหั่นฝอยใส่ชาม
ตอกไข่ใส่ลงไป
ตีไข่กับผักให้เข้ากันดี ใส่หมูสับ และซอสถั่วเหลือง ๑ ช้อนชา ลงไป
ตีต่อให้เข้ากันดี ใช้ได้
ตวงน้ำใส่หม้อ ยกตั้งไฟปานกลางจนน้ำเดือดจัด เทส่วนผสมที่ตีไว้ลงไป
คนเล็กน้อยพอเดือดอีกที เทใส่ชามโรยหน้าด้วยกระเทียมเจียว เสิร์ฟได้
สรรพคุณ
ตำลึงอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์สูง เช่น สารเบต้าแคโรทีน ที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง และหัวใจขาดเลือด มีแคลเซียมช่วยบำรุงกระดูก และฟัน และยังมีฟอสฟอรัส เหล็ก ไนอาซิน วิตามินซีและอื่น ๆ นอกจากนี้ จากการค้นคว้าของสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า ตำลึงมีเส้นใยอาหารที่สามารถช่วยลดอัตราเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง ในกระเพาะอาหาร อีกด้วย สำหรับตำรายาแผนโบราณ ตำลึงถือเป็นยาเย็น ใบช่วยขับพิษร้อน ถอนพิษไข้ แก้อาการแพ้ อักเสบ แมลงมีพิษกัดต่อย แก้แสบคัน เจ็บตา ตาแดงและตาแฉะ แก้โรคผิวหนัง และลดน้ำตาลในเลือด
ราก : แก้ดวงตาเป็นฝ้า ลดความอ้วน แก้ไข้ทุกชนิด ดับพิษทั้งปวง ฝนทาภายนอก แก้ฝีต่างๆ แก้ปวดบวม แก้พิษร้อนภายใน แก้พิษแมลงป่องหรือตะขาบต่อย
ต้น : กำจัดกลิ่นตัว น้ำจากต้น รักษาเบาหวาน
เปลือกราก : เป็นยาถ่าย ยาระบาย
เถา : แก้ฝี ทำให้ฝีสุก แก้ปวดตา แก้โรคตา แก้ตาฝ้า ตาแฉะ แก้พิษอักเสบจากลูกตา ดับพิษร้อน ถอนพิษ เป็นยาโรคผิวหนัง แก้เบาหวาน
ใบ : เป็นยาพอกรักษาผิวหนัง รักษามะเร็งเพลิง แก้ท้องอืด แก้ท้องเฟ้อ แก้จุกเสียด แก้หืด รักษาผื่นคันที่เกิดจากพิษของหมามุ้ย ตำแย บุ้งร่าน ใช้เป็นยาเขียว แก้ไข้ ดับพิษร้อน ถอนพิษทั้งปวง แก้ปวดแสบปวดร้อน ถอนพิษคูน แก้คัน แก้แมลงกัดต่อย แก้ไข้หวัด แก้พิษกาฬ แก้เริม แก้งูสวัด
ผล : แก้ฝีแดง
ทั้งห้า รักษาโรคผิวหนัง รักษาอาการอักเสบของหลอดลม รักษาเบาหวาน

วันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ไผ่

 
          
 
           คนไทยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย รักธรรมชาติ ยิ้มแย้มแจ่มใสใจดี รักศิลปะ เสียงเพลงและดนตรี มีนิสัยอ่อนโยนอ่อนน้อมถ่อมตนและสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์และสภาพแวดล้อมได้เป็นอย่างดีมีภูมิปัญญาสามารถนำสิ่งที่ใกล้มือในท้องถิ่นมาประดิษฐ์เป็นเครื่องมือใช้สอยในชีวิตประจำวันได้อย่างสวยงามโดยเฉพาะไม้ไผ่ เป็นวัตถุดิบจากธรรมชาติที่มนุษย์นำมาใช้ประโยชน์โดยตรงหรือแปรรูปให้เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในการดำรงชีวิต คนไทยรู้จักคุ้นเคยและมีความผูกพันอย่างชนิดแยกไม่ออกมาตั้งแต่เกิดจนตาย กลายเป็นวัฒนธรรมสืบทอดกันต่อมา    "ไผ่" เป็นชื่อพันธุ์ไม้พวกหนึ่ง พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ กล่าวว่า ไผ่เป็นชื่อพรรณไม้พวกหนึ่ง ( Bambusa spp.) อยู่ในวงศ์ Graminese เป็นกอ ลำต้นสูง และเป็นปล้องๆ มีหลายชนิดมากกว่า ๑,๒๕๐ ขนิด ๕๐ ตระกูล เช่น ไผ่จีน ไผ่ป่า ไผ่สีสุก ไผ่เลี้ยง ไผ่ดำ เป็นต้น ไม้ไผ่เป็นพันธุ์ไม้ที่มีลักษณะเฉพาะที่แปลกไปจากพืชและพันธุ์ไม้อื่นๆ เพราะแม้ว่าไผ่มีลักษณะที่ควรจะเป็นต้นไม้ แต่ไผ่กลับถูกจัดเป็นหญ้าประเภทหนึ่ง และเป็น "หญ้ายักษ์" เพราะลำต้นสูง กลวงเป็นปล้องๆ หากสังเกตให้ดีจะเห็นว่าใบไผ่คล้ายกับใบหญ้า ไผ่ขยายพันธุ์ด้วยการแตกหน่อ เพราะหนึ่งในร้อยปีไผ่จึงอาจจะออกดอกสักครั้ง และหลังจากออกดอกแล้วก็ตาย ไผ่จะเติบโตอย่างรวดเร็วและจะโตเต็มที่ภายในสองเดือน และจะคงขนาดเช่นนั้นไปตลอดชีวิตของมัน ลำต้นของไผ่จะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ ๐.๗ - ๗ นิ้ว สูง ๑ - ๖๐ ฟุต ไผ่ขึ้นได้ทั้งในบริเวณที่มีอากาศอบอุ่นและอากาศเย็นต่ำกว่าศูนย์องศา ไผ่จึงเป็นไม้ที่มีมากในบริเวณเอเซียและแปซิฟิค อเมริกาใต้บางท้องถิ่น

คุณลักษณะพิเศษของ "ไผ่"
           ๑.ไผ่โตเร็วสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ภายในเวลา ๑ - ๔ ปี และใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ตั้งแต่รากไผ่เป็นสมุนไพรอย่างหนึ่งที่ใช้เป็นยารักษาโรคได้ หนิอไผ่หรือหน่อไม้ใช้ทำอาหาร กาบหรือใบไผ่ใช้ห่ออาหารหรือหมักปุ๋ย กิ่งและแขนงใช้ทำรั้ว ลำต้นใช้ประโยชน์ได้สารพัดอย่าง ตั้งแต่นำมาใช้ปลูกสร้างที่พักอาศัยและแปรรูปเป็นเครื่องจักสานและเครื่องมือเครื่องใช้นานาชนิดจนถึงนำมาใช้เกี่ยวกับความเชื่อและพิธีกรรมต่างๆ ตั้งแต่เกิดจนตาย
           คังนั้นชาวนาจึงมักปลูกไผ่ตามหัวไร่ปลายนา และปลูกไว้รอบๆบ้าน เพื่อใช้เป็นรั้วบ้านและป้องกันพายุ เพราะไม้ไผ่จะลู่ตามลมไม่หักโค่นเหมือนไม้อื่น หากปลูกไผ่ไว้ตามริมแม่น้ำลำคลอง จะช่วยชะลอความเร็วของกระแสน้ำไม่ให้ดินพัวทะลายง่าย นอกจากนี้ไผ่ยังใช้เป็นอาหารในครัวเรือนได้ด้วย

           ๒. ไผ่มีลำต้นตรงและกลวงคล้ายหลอดและมีปล้องข้อคั่นเป็นปล้องๆ จึงใช้เป็นภาชนะประเภทกระบอก ถ้วย สำหรับใส่ของเหลว เช่นใช้เป็นกระบอกน้ำ กระบอกน้ำตาล ซึ่งใช้กันทั่วไปในหลายประเทศ ลักษณะพิเศษของไม้ไผ่นี้สามารถนำมาใช้สร้างอาคารที่พักอาศัยได้ โดยนำมาทำเป็นโครงสร้างของบ้านเรือน ใช้เป็นพื้นเรือน ฝาเรือน ใช้ทำรางน้ำ ท่อน้ำ และทำเครื่องดนตรีประเภทขลุ่ยได้ดีอีกด้วย
          ๓. เนื้อไผ่เป็นเส้นตรงมีความยืดหยุ่นในตัวเองและสามารถคินตัวสู่สภาพเดิมได้ เมื่อนำไม้ไผ่มาแปรรูปก็จะสามารถใช้ประโยชน์ได้ดี เพราะเนื้อไม้ไผ่เป็นเส้นตรง นำมาจักเป็นปื้นบางๆ หรือเหลาเป็นเส้นได้ดี จึงใช้ทำเครื่องจักสานนานาชนิดได้ ทั้งเครื่องจักสานที่มีขนาดใหญ่ แข็งแรงมั่นคง สำหรับใช้งานหนักจนถึงเครื่องจักสานขนาดเล็กที่มีความปราณีตบอบบาง และเพราะคุณสมบัติในที่มีความยืดหยุ่น จึงเหมาะที่จะใช้เป็นเครื่องหาบหรือหาม เช่น คาน คันกระสุน คันธนูและเมื่อแปรรูปเป็นตอกก็ยังมีความยืดหยุ่นคืนรูปทรงเดิมได้ง่ายจึงทำให้ภาชนะจักสานที่ทำจากไผ่มีคุณลักษณะพิเศษต่างไปจากภาชนะที่ทำจากวัตถุดิบชนิดอื่น
           ๔. ไม้ไผ่มีความสวยงามในตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นผิวที่มีสีต่างๆ กันเมื่อแห้งแล้วมักจะมีสีเหลืองอยู่เช่นนั้นตลอดไป ด้วยคุณสมบัติพิเศษนี้ ชาวเอเซียจึงใช้เหล็กหรือโลหะเผาไฟจนร้อนแล้วเขียนตัวอักษรหรือลวดลายลงบนผิวไม้ไผ่ ( Bamboo Pyrographic ) เช่นจีนจารึกบทกวีบนผิวไม้ไผ่ ชาวญี่ปุ่นใช้เขียนชื่อเจ้าของบ้านแขวนไว้หน้าบ้านและจารึกบทกวีแขวนไว้สองข้างประตูเรือนน้ำชา ( Tea House ) ชาวเกาหลีใช้เขียนเป็นลวดลายบนเครื่องใช้ เช่นเดียวกับที่ชาวบาตัก ( Batak) ในประเทศอินโดนีเซีย ใช้เหล็กเผาไฟ ขูด ขีด เขียน ลงบนกระบอกไม้ไผ่ สำหรับเก็บยาหรือทำเป็นปฏิทิน ในขณะที่ชาวบาหลีใช้จารลงบนผิวไผ่เป็นแผ่นๆ เพื่อใช้เป็นคัมภีร์ในศาสนาตน นอกจากไม้ไผ่จะมีผิวสวยแล้ว เนื้อไผ่ยังมีลักษณะพิเศษต่างจากเนื้อไม้อื่นคือ มีเสี้ยนยาวขนานกันเป็นเส้น จึงแปรรูปเป็นเส้น เป็นปื้น หรือเหลาให้กลมได้ง่าย และเมื่อแก่เต็มที่แล้วจะเป็นเส้นละเอียดแข็ง มอดแมลงไม่กินจนมีผู้กล่าวว่า เครื่องจักสานไม้ไผ่นั้น ผู้สานสามารถสานให้เป็นรูปทรงแปลกๆ แตกต่างกันได้มากมาย จนเครื่องจักสานบางชิ้นมีรูปทรงและผิวสวยงามดุจงานประติมากรรมสมัยใหม่ทีเดียว
                                    ประโยชน์จาก"ไผ่"
1.  ด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติ
-   ป้องกันการพังทลายของดินตามริมฝั่ง
-   ช่วยเป็นแนวป้องกันลมพายุ
-   ชะลอความเร็วของกระแสน้ำป่าเมื่อฤดูน้ำหลากกันภาวะน้ำท่วมฉับพลัน
-   ให้ความร่มรื่น
-   ใช้ประดับสวน จัดแต่งเป็นมุมพักผ่อนหย่อนใจในบ้านเรือน
2.  ประโยชน์จากลักษณะทางฟิสิกส์
จากความแข็งแรง ความเหนียว การยืดหด ความโค้งงอ และการสปริงตัว ซึ่งเป็นคุณลักษณะประจำตัวของไม้ไผ่ เราสามารถนำมันมาใช้เป็นวัสดุเสริมในงานคอนกรีต และเป็นส่วนต่างๆ ของการสร้างที่อยู่อาศัยแบบประหยัดได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
3.  ประโยชน์จากลักษณะทางเคมีของไม้ไผ่
- เนื้อไผ่ใช้บดเป็นเยื่อกระดาษ
- เส้นไยใช้ทำไหมเทียม
- เนื้อไผ่บางชนิดสามารถสกัดทำยารักษาโรคได้
- ใช้ในงานอุตสาหกรรมนานาชนิด
4  การใช้ไม้ไผ่ในผลิตภัณฑ์หัตถกรรม และอุสาหกรรม  แบ่งออกได้   ดังนี้        ผลิตภัณฑ์เครื่องจักสานจากเส้นตอก ได้แก่ กระจาด  กระบุง  กระด้ง  กระเช้าผลไม้  ตะกร้าจ่ายตลาด  ชะลอม  ตะกร้าใส่ขยะ  กระเป๋าถือสตรี   เข่งใส่ขยะ  เครื่องมือจับสัตว์น้ำ เช่น ข้องใส่ปลา  ลอบ  ไซ ฯลฯ
ผลิตภัณฑ์จากลำต้น และกิ่งของไม้ไผ่  ได้แก่  เก้าอี้  โต๊ะ  ชั้นวางหนังสือ  ทำด้ามไม้กวาด ไม้เท้า คันเบ็ด ราวตากผ้า โครงสร้างบ้านส่วนต่างๆ ทำแคร่ นั่งร้านก่อสร้าง  ท่อส่งน้ำ    รางน้ำ
ผลิตภัณฑ์จากเนื้อไม้ไผ่ ได้แก่  ถาดใส่ขนม   ทัพพีไม้    ตะเกียบ    ไม้เสียบอาหาร
 กรอบรูป  ไม้ก้านธูป ไม้พาย ไม้เกาหลัง เครื่องดนตรี พื้นบ้าน ไม้บรรทัด
        ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากไผ่ซีกได้แก่  โครงโคมกระดาษ   โครงพัด  โครงร่ม  ลูกระนาด
 คันธนู  พื้นม้านั่ง  แผงตากปลา  สุ่มปลา  สุ่มไก่
       5. ประโยชน์ทางด้านการบริโภค เช่น การนำหน่อไม้ไผ่มาทำเป็นอาหาร ไม่ว่าจะเป็นซุบ แกง ต้ม หรือนำมาดองจิ้มน้ำพริก

ไผ่..กับวิถีชีวิตคนไทยในอดีต ไม่มีใครปฏิเสธได้เลยว่าไผ่เคียงคู่กับคนไทยทั้งในเมืองและชนบท ร้อยละ 80 ของบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ประกอบด้วยไผ่ตั้งแต่เสาเรืิอน(กระท่อมไม้ไผ่) พื้นบ้าน ฝาบ้าน ส่วนประกอบของบ้านเรือนเกือบทั้งหมดเป็นไม้ไผ่ที่ถูกบรรจงสร้างอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย และของใช้ในชีวิตประจำวันทั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น กระจาด กระด้ง ตระกร้า กระบุง ที่นึ่งข้าว ฯลฯ อีกมากมายที่แปรรูปจากไม้ไผ่ทั้งสิ้น ตั้งแต่เกิดจนตายเราจะเห็นต้นไผ่ปลูกไว้ข้างรั้วรอบบ้านเป็นทั้งแนวป้องกันขโมย พร้อมทั้งป้องกันลม ในส่วนของหน่อไม้ก็สามารถมาทำอาหารได้หลากหลาย ลำไผ่ทุกส่วนล้วนเป็นประโยชน์ทั้งสิ้นไผ่.... ลดต้นทุนการครองเรือนมหาศาล เช่นใช้สร้างบ้าน โรงเรือนเลี้ยงสัตว์ ปลูกพืช เครื่องมือจับสัตว์ ทั้งสัตว์น้ำและสัตว์บก เราจะเห็นว่าการลงทุนในทุกรูปแบบที่ใช้ไผ่เข้ามาเป็นส่วนประกอบเพราะไผ่ราคาถูกและอาจไม่ได้ซื้อเลยถ้าเราปลูกไผ่ไว้ไผ่... ในปัจจุบันถูกบรรจงสร้างมาเป็นส่วนประกอบในบ้านเรือนราคาสูง เช่น ใช้ไม้ไผ่อัีดตีฝ้า ตกแต่งประดับบ้านที่อยู่อาศัย สร้างบรรยากาศได้อย่างลงตัวและสร้างความรู้สึกในความเป็นไทยได้อย่างฝังลึกใครก็ต้องมองและชื่นชมทุกวันนี้ ไผ่... เข้ามามีบทบาทในครัวเรือนพืชปลอดภัยจากสารพิษ ที่หาง่ายราคาถูก เพียงมีไผ่อยู่ริมรั้วบ้านไม่กี่ต้นก็สามารถลดภาระการเงินได้เป็นอย่างดี มื้อนี้และมื้อหน้าต้มหน่อไม้ และแกงหน่อไม้ ก็ยังเป็นอาหารจานโปรดที่ได้รสชาติบวกความประหยัดอีกทางเลือกหนึ่งชีวิตที่ย้อนกลับ.... ทุกวันนี้ที่ผ่านมาเราพยายามจะลืมไผ่หันมาใช้วัสดุอื่นทดแทน เช่น เหล็ก ปูน กระเบื้อง มาถึงวันนี้ทุกคนเริ่มรู้แล้วว่าโรคภัยต่าง ๆ ที่รุมเร้าเข้ามาจากสิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อสุขภาพ แตกต่างกับวิถีชีวิตที่เป็นธรรมชาติโดยสิ้นเชิง หลายชีวิตเริ่มไขว่คว้าหวนคืนสู่กลับธรรมชาติ ชอบอยู่ ชอบนอน ชอบพักผ่อนกับร่มไม้ และกระท่อมริมสวน ริมคลอง และกระท่อมปลายนา ที่มีบรรยากาศของความสดชื่นบริสุทธิ์รอบทิศทางของที่อยู่อาศัยมีสานลมพัดผ่านไม่ใช่กลิ่นไอเย็นจากเคมีของเครื่องปรับอากาศ แต่เป็นกลิ่นไอของลมเย็นธรรมชาติที่ถูกปรุงแต่งกลิ่นของสมุนไพร ไม้หอมนานาพันธุ์ ถ้าได้นอนหลับซักตื่นดูเหมือนชีวิตที่ตื่นมาในวันรุ่งเป็นโลกใบใหม่ร่างกายและจิตใจดูเข้มแข็งขึ้นมาทันที นี่เพียงชั่วคืนเท่านั้นนี่คือ ... ธรรมชาติของไม้ไผ่ ซึมซับความชุ่มเย็นไว้ตลอดลำไผ่กักและเก็บน้ำชุ่มไว้ที่รากจากหนึ่งหยด... รวมเป็นร้อยหยด พันล้านหยดรวมเป็นน้ำตก ลำธารใสเย็ฯฉ่ำมาเสมอมา และนี่คือต้นน้ำที่แท้จริงก็จากรากไผ่นี่เองเมื่อวิถีชีวิตเราขาดไผ่ แล้วไม่เป็นสุข ฉะนั้นเราจะต้องช่วยกันปลูกไผ่ให้เต็มบ้านเต็มเมือง แล้ววันนี้...คุณปลูกไผ่สักต้นหรือยัง ?

วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

มะละกอ

Pic_97137

ในตำรายาแผนไทยระบุชื่อสมุนไพรมีไม่ต่ำกว่า 19 ชนิด ที่มีสรรพคุณใช้เป็นยาบำบัดเกี่ยวกับไต และในจำนวนนั้นมีมะละกอรวมอยู่ด้วย ซึ่งในวันนี้จะขอกล่าวถึง “รากมะละกอ” บำบัดเกี่ยวกับไตเพียงอย่างเดียว โดยใครที่เริ่มจะมีอาการของโรคไตไม่ใช่เป็นมานานแล้ว ในตำรายาแผนไทย ให้เอา “รากมะละกอ” กะจำนวนตามต้องการ หรือพอประมาณต้มกับน้ำจนเดือดแล้วดื่มขณะยังอุ่นครั้งละ 1 แก้ว วันละ 2 ครั้ง เช้าเย็นก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ ดื่มจนยาจืด ไม่จำเป็นจะต้องกินติดต่อกันแบบประจำ กินวันเว้นวัน หรืออาทิตย์เว้นอาทิตย์ก็ได้ ดื่มประมาณ 1 เดือนจะสังเกตได้ว่าอาการเกี่ยวกับไตจะดีขึ้น ใครที่มีอาการเกี่ยวกับไตใหม่ๆ ทดลองต้มดื่มได้ไม่มีอันตรายอะไร หากไม่ถูกโฉลกก็หยุดเลย
มะละกอ หรือ CARICA PAPAYA LINN. อยู่ในวงศ์ CARICACEAE มีต้นขายทั่วไปที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ ส่วนผลมีขายตามตลาดสดทั่วไป มีสรรพคุณคือ รากและก้านใช้เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ หนองใน ยางใช้กัดแผลและฆ่าแม่พยาธิทั้งปวง ยาพื้นบ้านบางแห่งใช้ต้นมะละกอที่ไม่สูงใหญ่นักทั้งต้นมัด 3 เปลาะต้มน้ำเดือดรับประทานจนจืดเป็นยาแก้มุตกิด ขับระดูขาว ใบต้มดื่มเป็นยาบำรุงหัวใจ ขับพยาธิ แก้ไข้ แก้บิด แก้ปวดบวม ขับปัสสาวะ ผลสุก บำรุงน้ำนม ระบายท้อง ยางจากผลดิบกัดหูด ไฝ ฝ้า ยาง ทำครีมทากันส้นเท้าแตก
ต้นมะละกอส่วนโคนที่ติดกับดิน หั่นเป็นชิ้นบางๆ เล็กๆ นวดกับเกลือป่นทำเป็นหัวไชโป๊รับประทานได้ กระดานดำ ของ “หมอดู” สมัยโบราณทำจากต้นมะละกอแห้งลงรักทาเขม่าไฟเป็นกระดานชนวนที่เบามาก ตกไม่แตก เขียนติดดี ใช้ได้หลายชั่วคน (ปัจจุบันไม่มีแล้ว) ลำต้นกับก้านใบกะพอประมาณต้มน้ำ รวมกับเสื้อผ้ายกเว้นผ้าห่มซักแทนสบู่ได้อีกด้วย

น้ำมะละกอปั่น

Papaya-juice

มะละกอเป็นผลไม้คู่บ้านคู่เมืองของคนไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ ผลดิบนำมาทำอาหารคาว ได้เช่น แกงส้ม ส้มตำ ส่วนผลสุกก็นำมารับประทานเพื่อช่วยให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น หรือจะนำมาทำเป็นน้ำผลไม้ยิ่งน่าดื่ม เพราะสีสันสวยงามและมีกลิ่นหอมอีกด้วยค่ะ ส่วนผสมและวิธีทำก็ไม่ยาก ลองทำดูเลยค่ะ
ส่วนผสม
  1. เนื้อมะละกอสุกหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ
  2. น้ำแข็งเกล็ด
  3. น้ำเชื่อม
  4. เกลือ เล็กน้อย
วิธีทำ
นำทุกอย่างเข้าเครื่องปั่น เมื่อได้ที่แล้วเทลงใส่แก้วทรงสูง เสิร์ฟทันที
น้ำมะละกอปั่นเป็นเครื่องดื่มที่เหมาะกับอากาศเมืองไทย แก้ร้อนผ่อนกระหายได้ดีมาก และที่สำคัญสามารถทำดื่มได้ตลอดทั้งปี เพราะมะละกอเป็นผลไม้ที่หาซื้อได้ในทุกฤดูกาล

มะละกอ

มะละกอ (Papaya) เป็นผลไม้ไทยที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ประโยชน์ของมะละกอมีมากมายไม่ว่าจะนำมาทำเป็นอาหารเช่น แกงส้มมะละกอ ทำเป็นเครื่องดื่มสมุนไพรเป็นชามะละกอ หรือแม้แต่นำผลสุกมาปอกกินเล่นก็ยังมีประโยชน์ช่วยให้ขับถ่ายง่ายป้องกันท้องผูก อีกทั้งมะละกอเป็นพืชที่ปลูกง่ายการปลูกมะละกอไม่ต้องการการดูแลมากอาศัยพื้นที่ว่างบริเวณรั้วบ้านก็ใช้เป็นที่ปลูกมะละกอได้แล้วเพียงแต่ต้องคอยระวังอย่าให้มีน้ำท่วมในบริเวณที่ปลูกมะละกอก็พอ ยอมเสียพื้นที่ในการปลูกมะละกอไว้แถวบริเวณบ้านสัก 1-2 ต้นรับรองว่าประโยชน์ของมะละกอที่ได้รับจะคุ้มเกินคุ้มอย่างแน่นอน

มะละกอ (Papaya) เป็นพืชยืนต้น สูงประมาณ 3-4 เมตร ลำต้นตั้งตรง เนื้อลำต้นจะอ่อน ลักษณะผลของมะละกออาจมีรูปร่างทั้งเป็นลูกกลมหรือทรงยาวรีแล้วแต่พันธุ์ของมะละกอ มะละกอที่ยังดิบอยู่เปลือกนอกจะมีสีเขียวพอผลมะละกอสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองออกส้ม มะละกอเป็นพืชที่ไม่ชอบให้มีน้ำท่วมขังเพราะจะทำให้รากเน่าและตายได้ มะละกอเป็นพืชที่นิยมปลูกในบริเวณรั้วบ้านวิธีการปลูกมะละกอทำได้ง่ายเพราะมะละกอเป็นพืชที่ไม่ต้องการการดูแลมากนักและทนต่อความแห้งแล้งได้ดีพอสมควร หากมีต้นมะละกอในบริเวณบ้านระวังอย่าให้น้ำท่วมก็พอ ประโยชน์ของมะละกอสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้เกือบทุกส่วนของต้นเลยทีเดียว

ประโยชน์ของมะละกอ เริ่มจากส่วนที่เป็นใบและยอดของมะละกอนำมาใช้ปรุงอาหารได้ ส่วนของลำต้นมะละกอภายในจะเป็นเนื้อสีขาวครีมลักษณะเนื้อจะอ่อนนุ่มคล้ายกับหัวผักกาดจีนที่เราสามารถนำไปปรุงเป็นอาหารได้เหมือนกันจะเป็นการดองเค็มหรือตากแห้งเก็บไว้กินก็ได้ ประโยชน์ของมะละกอเมื่อใช้ปรุงเป็นอาหารจะมีประโยชน์และคุณค่าทางโภชนาการสูง มีสารอาหารที่สำคัญหลายอย่างเช่น วิตามินเอ วิตามินบี วิตามินซี (Vitamin A B C) ธาตุเหล็กและแคลเซียม สารอาหารเหล่านี้ล้วนมีประโยชน์ต่อสุขภาพทั้งสิ้น

ประโยชน์ของมะละกอดิบ ผลดิบของมะละกอที่มีเปลือกสีเขียวนั้นภายในจะมียางสีขาวข้นเรียกกันว่ายางมะละกอ สรรพคุณของยางมะละกอใช้หมักเนื้อทำให้เนื้อนุ่มและเร่งให้เปื่อยเร็วขึ้นเมื่อต้มและหากนำยางมะละกอไปสกัดเป็นเอนไซม์ที่มีชื่อว่าปาเปอีน (Papain Enzyme) สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางได้อีกด้วย  ประโยชน์ของมะละกอดิบยังใช้เป็นยาสมุนไพร (Herb) เป็นยาระบายอ่อนๆช่วยในการขับปัสสาวะหรือจะนำผลมะละกอดิบไปทำเป็นเครื่องดื่มสมุนไพรคือ ชามะละกอ ที่มีสรรพคุณในการล้างลำไส้จากคราบไขมันที่เกาะติดอยู่ที่เกิดจากการกินอาหารที่ผัดด้วยน้ำมันเป็นประจำ เมื่อชามะละกอช่วยล้างคราบไขมันที่ผนังลำไส้ออกไปแล้วจะทำให้ระบบดูดซึมสารอาหารทำงานได้เต็มที่

วันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

กล้วยกับประเพณีไทย

ประวัติพิธีแต่งงาน
พิธีแต่งงาน คือพิธีที่จัดทำขึ้น เพื่อให้ชายหญิงได้อยู่กินกันเป็นสามีภรรยากันถูกต้องตามประเพณี โดยเชิญญาติมิตรมาร่วมพิธีและเป็นสักขีพยาน การเรียกพิธีแต่งงานในปัจจุบันว่า พิธีมงคลสมรส นั้น เป็นการนำคำว่า เสกสมรส ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบัญญัติขึ้น เพื่อใช้เรียกพิธีแต่งงานของเจ้านายมาใช้ แต่ได้มีการตัดคำว่า เสก ออกไป จึงเรียกเพียงว่า พิธีมงคลสมรส พิธีแต่งงานในปัจจุบันแตกต่างจากสมัยก่อน ที่เห็นเด่นชัดคือ พิธีแต่งงานหมู่ หรือที่เรียกว่า พิธีสมรสหมู่ คือการจัดพิธีแต่งงานของเจ้าบ่าวและเจ้าสาว จำนวนหลายๆคู่พร้อมกัน เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการจัดงานและเป็นการนำประเพณีและวัฒนธรรมมาปรับให้เข้ากับสภาพเศรษฐกิจ และสังคมในปัจจุบัน
พระยาอนุมานราชธน เสถียรโกเศศ เล่าถึงพิธีแต่งงานในสมัยก่อนอย่างละเอียด ในหนังสือ ประเพณีเรื่องแต่งงาน บ่าวสาวไทย ว่า พิธีแต่งงานจะเริ่มมีขึ้นได้ ต่อเมื่อฝ่ายชายได้จัดผู้ใหญ่เป็นตัวแทนไปเจรจาสู่ขอหญิง เมื่อทางผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงตกลงปลงใจด้วยแล้ว ฝ่ายชายจึงวานผู้มีหน้ามีตา หรือผู้สูงอายุไปเจรจาสู่ขอ และทำความตกลงเรื่องขันหมากหมั้น เมื่อเจรจากันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงนัดหมายวันที่จะส่งขันหมากหมั้นไปสู่ขอตามธรรมเนียม
ฤกษ์วันหมั้น พิธียกขันหมาก
พ่อแม่และผู้เป็นเฒ่าแก่ ของฝ่ายชาย ต้องจัดเตรียมขันหมากเอก โท และขนมขันหมากไว้ให้เรียบร้อย ซึ่งขันหมากเอก คือขันที่บรรจุหมากพลู ใบเงินใบทอง ถุงข้าวเปลือก ถั่วงา ขันหมากโท หรือขันเงินทุน ขันสินสอด ส่วนการจัดขบวนขันหมากโท และเครื่องบริวารมักจัดกันเป็นเลขคู่ ที่ขาดไม่ได้คือต้นกล้วยต้นอ้อย มีความเชื่อกันว่า จะต้องขุดมาให้ติดราก หรือมีหน่อที่สมบูรณ์ โดยขุดมาเป็นคู่ นำมาประดับตกแต่งด้วยกระดาษสีให้ดูสวยงาม ซึ่งเจ้าบ่าวเจ้าสาวจะต้องทำการปลูกร่วมกัน คล้ายกับการเสี่ยงทายอย่างหนึ่ง ซึ่งหากต้นกล้วยเจริญเติบโตออกดอกออกผลสมบูรณ์ และต้นอ้อยเติบโตหอมหวาน เชื่อกันว่าความรักของหนุ่มสาวคู่นี้ จะเป็นไปอย่างราบรื่น มีลูกเต็มบ้านมีหลานเต็มเมือง ความรักจะสดชื่นหอมหวานอยู่มิรู้คลาย
 เครื่องขันหมากหมั้น

           ขั้นตอนพิธีแต่งงานแบบไทยแต่งงานแบบไทย
           หลายคนเคยได้ยินแต่ขบวนขันหมากแต่ง แต่ไม่รู้ว่ามีขันหมากสำหรับพิธีหมั้นด้วยซึ่งพิธี ก็เหมือนเป็นการประกาศว่า ผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายเห็นชอบ
ขบวนขันหมากหมั้น จะมีขันใส่หมาก และขันใส่ของหมั้น


          ขันใส่หมาก  จะมีหมากดิบ 8 ผล พลู 4 เรียง (เรียงละ 8 ใบ) หรืออาจใช้มากกว่านี้ก็ได้ ขึ้นอยู่กับธรรมเนียมของแต่ละท้องถิ่น ขอแค่ให้เป็นจำนวนเลขคู่

          ขันใส่ของหมั้น ซึ่งในสมัยก่อน มักจะเป็นทองรูปพรรณ เครื่องเพชรพลอย สร้อยต่างหูกำไลหรือแหวนทองมรดก จากบรรพบุรุษ ห่อไว้ด้วยผ้าหรือกระดาษสีแดง ให้เรียบร้อย สวยงาม ก่อนบรรจุ ลงในขัน สมัยนี้เปิด ผ้าแดงออกมามีแต่ธนบัตรล้วนๆ หลายปึกเรียงซ้อนกัน ก็นับว่าเข้าทีเหมือนกัน

          ขันประกอบ มีการเพิ่มขันที่สามเข้าไปเพื่อเป็นขันประกอบโดยบรรจุใบเงินใบทอง ถุงเล็กถุงน้อยที่ใส่ข้าวเปลือก ข้าวตอก ถั่วเขียว และงา (เป็นจำนวนคู่) ซึ่งจัดไว้เพื่อเอาความหมายเกี่ยวกับความเจริญรุ่งเรืองและความงอกงามในวันข้างหน้า ส่วนขันใส่หมาก ขันใส่ของหมั้น ขันใส่ข้าวเปลือก ถั่วงา และใบเงินใบทอง ทั้งหมดจัดแต่งอย่างประณีต อาจมีการเย็บใบตองจับจีบประดับด้วยมาลัย ดอกรักและบานไม่รู้โรยแล้วคลุมด้วยผ้าอย่างดีให้เรียบร้อยสวยงาม


การเจรจาหมั้นหมาย
             เมื่อผู้ใหญ่ทางฝ่ายชายให้คนยกเครื่องขันหมากหมั้นลงจัดวางเรียบร้อยแล้ว จึงเจรจากับผู้ใหญ่ของฝ่ายหญิง แจกแจงว่าของที่นำ มาหมั้นมีอะไรบ้าง พอให้ผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงเปิดดูข้าวของว่าถูกต้องครบถ้วนแล้ว ค่อยให้คนของฝ่ายตัวเองยกของทั้งหมดเข้าไปเก็บ ตามตัวเจ้าสาวออกมารับหมั้น หลังจากนั้นจึงส่งภาชนะถาดขันทั้งหลายเหล่านั้นออกมาคืน ซึ่งส่วนใหญ่ครอบครัวฝ่ายหญิงมักเตรียม ของขวัญเล็กน้อยมีมูลค่า ต่างกันไปตามสถานะผู้รับไว้ให้ขบวนของฝ่ายชายครบทุกคนด้วย นอกจากนี้ในสมัยก่อนบ้านฝ่ายหญิงอาจ ต้องเตรียมพานใส่หมากพลูไว้ต้อนรับผู้ใหญ่ฝ่ายชายด้วย แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีใครกินหมาก ก็จะละไว้ไม่ต้องจัดเตรียมเรื่องของพิธีหมั้น มีบางกรณีที่ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน ว่าจัดรวบเสียวันเดียวกับงานแต่งก็ได้ โดยยกขบวนทั้งของหมั้นของแต่งในคราวเดียวเพื่อ ความสะดวก สำหรับกรณีที่ไม่เคร่งครัดจะไม่มีหมากพลูของหมั้นขันถาดอะไรเลย แค่ล้วงหยิบกล่องใส่แหวนออกมาจากกระเป๋า เสื้อเท่านั้นก็ย่อมได้ ถ้าทำความเข้าใจกันไว้แล้วอย่างดีแล้วค่อยไปให้ความสำคัญกับรายละเอียดของงานแต่งเพียงอย่างเดียวก็พอ

เครื่องขันหมากแต่ง

           ขันหมากงานแต่งก็คล้ายกันกับขันหมากหมั้น เพียงแต่มีเครื่องประกอบเยอะกว่า มีการจัดหมวดหมู่ต่างออกไป คือต้องจัดแยกเป็นขันหมากเอก และขันหมากโท ซึ่งฝ่ายเจ้าบ่าวจะทำหน้าที่ยกไป เพื่อมอบใหเกับครอบครัวของฝ่ายเจ้าสาว ขันหมากเอก ประกอบด้วยขันหมากบรรจุหมากพลู หรืออาจจัดแยกเป็นหมากหนึ่งขันและพลูอีกหนึ่งขันก็ได้ จากนั้นต้องมีขันเงินสินสอดตามจำนวน
ที่ได้ตกลงกันไว้ โดยบางตำราระบุว่า ควรจะต้องมีถุงเล็ก ถุงน้อยใส่ถั่วงา ข้าวเปลือก ข้าวตอกใสามาในขันนี้ด้วย แต่ธรรมเนียมบางแห่งจัดแยกกัน คือจัดเงินสินสอดใส่ห่อผ้าลงในขันหนึ่ง แล้วจัดถุงข้าวและถั่วงาลงขันอีกใบหนึ่ง แต่ไม่ว่าจะอย่างไรสิ่งสำคัญคือ ต้องตกแต่ง
ให้เรียบร้อยสวยงาม เช่นประดับ มาลัยดอกรักบาน ไม่รู้โรย ใบตองประดิษฐ์ และมีผ้าคลุมไว้ทุกขันเพื่อความเหมาะสม และต้องจัดให้ขันบรรจุหมากพลูมีขนาดใหญ่กว่าขันอื่นๆ ด้วย นอกจากนี้ ขันหมากเอกประกอบด้วยพานผ้าไหว้และเตียบเครื่องคาวหวาน จัดไว้เป็นจำนวนเลขคู่ตามเคย พานไหว้ ได้แก่ พานใส่ผ้าสำหรับไหว้ผู้ใหญ่ฝ่ายหญิง โดยมากจัด 3 สำรับ สำรับแรกเป็นผ้าขาวสำหรับนุ่ง 1 ผืนและห่ม 1 ผืน เทียนและธูปหอม ดอกไม้อีกกระทง อันนี้สำหรับเซ่นไหว้ผีปู่ย่าตายาย ส่วนอีก 2 สำรับใช้ไหว้พ่อและแม่เจ้าสาว ไม่ต้องมีธูปเทียนและดอกไม้ กรณีที่ปู่ย่าตายายยังมีชีวิตอยู่ ก็ไม่ต้องจัดพานผ้าไหว้เซ่นบรรพบุรุษ หรือผ้าไหว้สำหรับพ่อตาแม่ยายแทนที่จะใช้ผ้าเป็นผืนอาจเปลี่ยนเป็นเสื้อผ้าที่ท่านจะนำไปใช้งานได้จริง เตียบ คือภาชนะชนิดหนึ่งสำหรับใส่เครื่องของกิน
เป็นตะลุ่มที่มีปากผายออกและมีฝาครอบ เตียบเครื่องคาวหวานในเครื่องขันหมากเอก มีไว้เพื่อเซ่นไหว้ผีปู่ย่าตายายหรือผีบ้านผีเรือนของบ้านเจ้าสาว โดยให้จัดไว้ 4 เตียบ เตียบแรกจะใส่เหล้า 1 ขวด เตียบสองไก่ย่าง 1 ตัว เตียบสามใส่ขนมจีนน้ำยาและห่อหมกปลาเตียบสี่เป็นมะพร้าวอ่อน ส้ม กล้วย รวมกับขนมหวานชนิดอื่นๆ ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถปรับเปลี่ยนได้ ด้วยแต่ละท้องถิ่นมีธรรมเนียมนิยมเรื่องอาหารต่างกันออกไปอยู่แล้ว ขอเพียงให้มีเหล้า 1 เตียบ และผลไม้ของหวาน 1 เตียบ ก็เป็นอันใช้ได้ ส่วนตัวเตียบนั้นอาจดัดแปลงเปลี่ยนเป็นพานหรือถาดก็ไใช้ได้เช่นกัน แต่ขอให้เตรียมผ้าสวยๆ ไว้คลุมปิดให้เรียบร้อยเป็นพอ (ในบางงานตัดการจัดเตียบออกไปเลยเพราะปู่ย่าตายายก็ยังอยู่กันครบแถมไม่ได้จัดงานที่บ้านจึงไม่ ต้องเซ่นไหว้ผีบ้านผีเรือน) ขันหมากโท เป็นเครื่องของประเภทขนมและผลไม้ บรรจุมาในขันหรือภาชนะอื่น เช่นถาดหรือ พาน ชนิดของขนมและผลไม้ไม่จำกัด ต่ส่วนมากมักใช้ชนิดที่นิยมในงานมงคลมีกล้วย ส้ม มะพร้าวอ่อน ขนมชั้น ฝอยทอง ข้าเหนียวแก้ว กะลาแม จัดเป็นคู่ทั้งจำนวนชิ้นขนม จำนวนภาชนะที่บรรจุ แล้วปักธงกระดาษสีแดงตกแต่งไว้ตรงกลางทุกขันหรือทุกถาด



องค์ประกอบของขบวนขันหมาก

          ลำดับขั้นก่อนหลังการจัดขบวนนั้น ต้องเริ่มต้นด้วยเถ้าแก่ของฝ่ายเจ้าบ่าว ตามมาด้วยคนยกขันหมากเอก ซึ่งต้องเรียงตามลำดับคือ คนยกขันหมากพลู ขันเงินสินสอด ขันผ้าไหว้ และเตียบ หลังจากนั้นถึงต่อท้ายด้วยคนยักขันหมากโทอีกที ที่เห็นกันบ่อยๆ จนแทบจะกลายเป็นสัญลักษณ์ของขบวนขันหมาก คือวงกลองยาวที่ตีฆ้องร้องรำนำหน้าขบวนกันมา สิ่งที่ช่วยสร้างสีสันอีกอย่าง ได้แก่ การตกแต่งหน้าขบวน ซึ่งนิยมใช้ต้นอ้อย 1 คู่ ถือเป็นการเอาเคล็ดเรื่องความหวาน ในบางท้องถิ่นใช้ต้นกล้วย 1 คู่แทน หมายถึงการมีลูกหลานมากมาย และที่ใช้ทั้งกล้วยทั้งอ้อยก็เหฌนกันอยู่บ่อยๆ ส่วนวงกลองยาวและต้นกล้วยต้นอ้อย หากสถานการณ์ ไม่อำนวย ไม่ต้องมีก็ได้ เพราะไม่ใช่องค์ประกอบสำคัญ แต่โดยส่วนมากก็มักจะอยากให้มีประกอบอยุ่ในขบวนด้วยเพื่อความสนุกสนานเฮฮาของทั้งเจ้าภาพและของแขกที่มาร่วมงาน ส่วนใหญ่แล้วผู้ทำหน้าที่ยกข้าวของเครื่อง ขันหมากเอกมักใช้ผู้หญิง ส่วนขันหมากโทจะเป็นชายหรือหญิงทำหน้าที่ยกก็ได้


การกั้นประตู

           เป็นอีกเรื่องที่แรกเริ่มเดิมทีเป็นไปเพื่อความสนุก แต่ภายหลังแทบจะเป็นองค์ประกอบหลักของงานแต่งงานไปทีเดียว การกั้นประตู คือการขวางทางขบวนขันหมากฝ่ายเจ้าบ่าวไว้เมื่อเคลื่อนเข้ามาในเขตบ้านเจ้าสาว โดยใช้คนสองคนถือสิ่งของที่มีลักษณะยาวออกกางกั้นไว้ หากไม่มอบของกำนัลให้ ก็จะไม่ยอมให้ผ่านเข้าไปได้ การกั้นประตูจะต้องทำโดยญาติพี่น้องหรือลูกหลาน
ในครอบครัวเจ้าสาว
ส่วนใหญ่มักทำกัน 3 ครั้ง ครั้งแรกใช้ผ้ากางกั้นไว้ เรียกว่าประตูชัย ประตูที่สองใช้ผืนแพร เรียกว่า ประตูเงิน สุดท้ายกั้นด้วยสายสร้อยทอง เรียกว่า ประตูทอง ในแต่ละประตู เถ้าแก่ ของเจ้าบ่าวจะต้องเจรจาเพื่อมอบของขวัญ (ส่วนมากนิยมใช้ซองใส่เงิน) ก่อนจะผ่านประตูไปได้ ซึ่งมูลค่าของขวัญมักจะต้องสูงขึ้นตามลำดับด้วย


การรับขันหมาก

           เมื่อขบวนขันหมากผ่านเข้ามาจนถึงตัวบ้านแล้ว ฝ่ายเจ้าสาวต้องส่งเด็กผู้หญิงถือพานบรรจุหมากพลูออกมาต้อนรับเถ้าแก่ฝ่ายเจ้าบ่าว เพื่อเป็นการรับขันหมากและเชิญให้เข้าสไปข้างใน เมื่อผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาวออกมาต้อนรับพูดคุย และรับรู้เครื่องของในขบวนแล้ว ก็รับข้าวของเหล่านั้นไว้ และทำการเปิดเตียบ (ในกรณีที่มีเตียบในขบวน) เพื่อจุดธุปเซ่นไหว้ต่อไป รายละเอียด
ขั้นตอนต่างๆ แต่ละท้องถิ่นก็ต่างกันไป ถ้าจะว่ากันโดยสรุปแล้ว เมื่อผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาวนับสินสอดครบถ้วนแล้ว ก็ต่อด้วยการให้เจ้าสาวกราบผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่าย แล้วจัดการเลี้ยงอาหารแขกที่มาร่วมงาน ซึ่งการเตรียมอาหารเป็นหน้าที่ของฝ่ายเจ้าสาว จากนั้นแจกของขวัญหรือซองเงินให้คนยกขันหมากมาในขบวน (รวมทั้งให้ตัวเถ้าแก่ฝ่ายชายด้วย)


การหลั่งน้ำสังข์
           ขั้นตอนการหลั่งน้ำสังข์ให้มีในวันยกขบวนขันหมาก หรือจัดแยกวันไว้ในภายหลังก็ได้ ขึ้นอยู่กับความสะดวก หรือ ฤกษ์ยามโดยเมื่อถึงเวลาที่กำหนด เพื่อนเจ้าบ่าวและเพื่อนเจ้าสาวจะพาคนทั้งสองมานั่งบนแท่นสำหรับหลั่งน้ำ แล้วเชิญประธานในพิธีจุดธูปเทียนจากนั้นสวมมงคลแฝดบนศรีษะเจ้าบ่าวเจ้าสาว แล้วโยงสายสิญจน์ไปยังหม้อน้ำมนต์เจิมหน้าผากด้วย แป้งเจิม แล้วเริ่มหลั่งน้ำสังข์ให้กับคู่บ่าวสาว อาจมีบางแห่งที่ปฏิบัติต่างกันไปบ้าง คือ ให้บ่าวสาวเป็นผู้จุดธูปเทียนบูชาพระแทน การรดน้ำสังข์นั้น จะรดเจ้าบ่าวหรือเจ้าสาวก่อนก็ได้ (แต่นิยมให้เจ้าบ่าวนั่งทางขวามือ)และจะรดบนศรีษะหรือบนมือที่มีพานดอกไม้รองรับอยู่ แต่เพื่อความเรียบร้อยจึงเป็นที่รู้กันว่าการรดบนศรีษะนั้นสงวนไว้ให้สำหรับผู้ใหญ่ประธานในพิธีผู้รดเป็นคนแรก และให้ศีลให้พรไปด้วย จากนั้นก็เป็นผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่าย ซึ่งจะให้พรไปพร้อมกับหลั่งน้ำ ส่วนคิวต่อๆ ไป มักเรียงลำดับตามอาวุโส ที่น่าสังเกตก็คือ ผู้หลั่งน้ำที่อายุรุ่นเดียวกันหรือยังไม่แต่งงานมักไม่นิยมให้พูดจาให้ศีลให้พรแก่คู่บ่าวสาว เมื่อเสร็จสิ้นพิธีการหลั่งน้ำสังข์แล้ว จะจัดให้มีงาน เลี้ยงฉลอง สนุกสนาน
กันอย่างไร สำหรับเรื่องงานเลี้ยงงานแต่งงาน สมัยนี้การที่ฝ่ายเจ้าสาวจะลุกขึ้นมาทำอาหารสำหรับ งานแต่งเห็นจะมีน้อยเต้มที เพราะต้องใช้กำลังคนจำนวนมาก และสถานที่ในบ้านอาจไม่กว้างพอ ดังนั้น การจ้างบริษัทจัดเลี้ยงหรือร้านอาหารให้จัดการให้ จึงเป็นวิธีที่เหมาะกว่า ซึ่งรายการอาหารในงานแต่ง ไม่มีกำหนดตายตัวอะไร แล้วแต่ความชอบในท้องถิ่นหรือในครอบครัว เพียงแค่หลีกเลี่ยงอาหารรสจัดเกินควรและอาหารชื่อไม่เป็นมงคล เช่น ต้มยำต่างๆ ปลาร้าปลาแดก ตีนไก่ หอยขม ที่นิยมกันมาก ได้แก่ ขนมจีน เพราะเป็นเส้นยาว ให้ความหมายถึงชีวิตคู่ที่ยืดยาวนาน ส่วนขนมหวานงานแต่งนั้น นอกจากขนมชื่อมงคลต่างๆ แล้วยังมีขนมโบราณคือ ขนมกง ขนมชะมด และขนมสามเกลอที่มักใช้ในงานแต่งงานอยู่เสมอ ทั้งสามชนิดทำจากแป้งหรือถั่วบด ปั้นและทอดในน้ำมัน แต่ใ่ช้ส่วนผสมและวิธีทำต่างๆ กันไป ซึ่งร้านขนมไทยบางแห่งอาจยังพอทำเป็นอยู่บ้าง


พิธีส่งตัวเข้าหอ

           เรื่องของการเข้าหอโดยหลักๆ ว่าด้วยพิธี 2 อย่าง นั้นคือ การปูที่นอน และการส่งตัว สมัยนี้มีหลายแห่งที่ถึงแม้จะจัดงานแต่งงานตาม ธรรมเนียมไทย แต่ก็ลดขั้นตอนพิธีเข้าหอเพื่อถือเคล็ดว่า บ่าวสาวจะได้มีชีวิตคู่ที่ดีเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ที่เป็นแบบอย่างคู่นี้ เพราะบางทีแต่งไม่ได้ จัดกันที่บ้านของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่จัดในสถานที่จัดงานอื่นๆ ครั้นจะวิ่งวุ่นหนีแขกหรื่อจากงานเลี้ยงฉลอง
เพื่อกลับมาทำพิธีเข้าหอที่บ้านเจ้าสาว (หรือบ้านเจ้าบ่าว) ก็จะเป็นไปได้โดยลำบาก บางรายทีการปลูกเรือนหอเพื่อรอย้ายเข้าไปอยู่ หากยังตกแต่งไม่เสร็จ ็ไม่รู้จะจัดพิธีเข้าหออย่างไร หรือกรณีที่ส่วนมากจัดงานเลี้ยงฉลองกันในโรงแรม โดยเจ้าบ่าวสาวพักค้างคืนเสียเลยในโรงแรมนั้น พิธีการต่างๆ เกี่ยวกับการเข้าหอก็อาจยุ่งยาก เกินกว่าจะเตรียมการได้อย่างครบถ้วน มีข้อสังเกตว่า ตามประเพณีดั้งเดิมนั้น เขาไม่มีการส่งตัวเข้าหอกันในวันแต่งงานทว่าต้องรอฤกษ์ดี สำหรับ การนี้โดยเฉพาะในวันหลัง ซึ่งบางทีนั้นก็อาจจะนอนหลายวันนับจากวันแต่งงานไปอีกก็ได้

พิธีปูที่นอน

           เป็นการจัดปูที่นอนในห้องหอคืนส่งตัว     เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตของคู่บ่าวสาวต่อไปในอนาคตเดิมนั้นพ่อแม่ฝ่ายเจ้าสาว จะเชิญผู้ใหญ่คู่สามีภรรยาซึ่งชีวิตครอบครัวมีความสุขสมบูรณ์ ซื่อสัตย์สุจริต ไม่เคยทะเลาะหรือขัดแย้งกัน ต้องมีลูกแล้วและลูกเป็นคนดีด้วย เพื่อถือเคล็ดว่าเจ้าบ่าวเจ้าสาวจะได้มีชีวิตคู่ที่ดีเช่นเดียวกัน ผู้ใหญ่ที่ทำพิธีปูที่นอนนี้ต้องอาบน้ำให้สะอาด
แต่งตัวเรียบร้อยสวยงามดีก่อน แล้วจึงเข้ามาในห้องหอเพื่อจัดเรียงหมอน 2 ใบ แล้วปัดที่นอนพอเป็นพิธี ไม่จำเป็นต้องปูที่นอนเองทั้งหมด จริงๆ ก็ได้ จากนั้นจัดวางข้าวของ ประกอบพิธีลงบนที่นอนอันได้แก่ หินบดยาหรือหินก้อนเส้าซึ่งใช้ก่อไฟในครัว หมายถึงความหนักแน่น ฟักเขียว หมายถึงความอยู่เย็นเป็นสุขแมวคราว (แมวตัวผู้ที่อายุมากแล้ว) หมายถึงการอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน
พานใส่ถุงข้าเปลือก งา ถั่วทองหรือถั่วเขียว ซึ่งล้วนหมายถึง ความเจริญงอกงาม และขันใส่น้ำฝน เป็นความเย็น ความสดชื่นชุ่มฉ่ำหรือบางแห่งอาจเพิ่มถุงใส่เงินด้วยในระหว่างจัดวางของ จะให้ศิลให้พร ไปด้วย จากนั้นผู้ใหญ่ทั้งคู่ก็จะนอนลงบนที่นอนนั้นฝ่ายหญิงนอนทางซ้าย ฝ่ายชายนอนทางขวา แล้วกล่าวถ้อยคำที่เป็นมงคลต่าง ๆ แก่ชีวิตคู่

การส่งตัว

           แต่ดั้งแต่เดิมมาผู้ใหญ่จะนำเจ้าสาวเข้ามาส่งตัวในห้องหอซึ่งเจ้าบ่าวเข้ามาคอยอยู่ก่อนแล้ว ไม่ใช่ว่าส่งทั้งเจ้าบ่าวเจ้าสาวเข้ามาพร้อมๆ กันเหมือนสมัยนี้ การส่งตัวไม่มีอะไรซับซ้อน ส่วนสำคัญของพิธีอยู่ที่คู่ผู้ใหญ่ซึ่งทำพิธีปูที่นอนนั้นพาเจ้าบ่าวเข้ามาในห้องหอ เจิมหน้าผากอวยพร จากนั้นค่อยนำเจ้าสาวเข้าห้องหอตามมา โดยเจ้าสาวต้องกราบพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่
ฝ่ายของตัวเอง เพื่อเป็นการขอพร เมื่อเจ้าสาวเข้ามา ในห้องหอแล้ว แม่เจ้าสาวต้องเป็นผู้พามามอบให้กับเจ้าบ่าว พร้อมพูดจาฝากฝังให้ช่วยดูแล จากนั้นจะกล่าวให้โอวาทเกี่ยวกับการใช้ชีวิตคู่ ในขั้นตอนนี้ ธรรมเนียมบางท้องถิ่นจะให้พ่อแม่เจ้าสาวเป็นผู้กล่าวบางแห่งก็ให้กล่าวทั้งพ่อแม่เจ้าสาวและเจ้าบ่าว หรือบางแห่งให้ผู้ใหญ่ คู่เดิมซึ่งทำพิธีปูที่นอนเป็นผู้กล่าวแทนพ่อแม่ไปเลยก็มี
ซึ่งพอให้โอวาทจบ ก็ถือเป็นอันเสร็จพิธี


ความเชื่อในประเพณีแต่งงาน
1.นำสิ่งที่เป็นมงคลเข้าบ้าน
 -อันเชิญบารมีพระแก้วมรกต , พระประจำวันเกิดท่านเจ้าของบ้าน,พระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 5 , พระโพธิสัตว์กวนอิม ฯลฯ เข้าบ้าน
-นำน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ 3 วัด พรมเป็นสิริมงคลในงานแต่งงาน
-น้ำล้างมือพ่อแม่ ปะพรมเป็นสิริมงคล ขอพร....ท่าน
-อุ้มแมวสีขาว หรือแมวลาย นำสร้อยทองคำผูกที่คอและเท้า แมวนั้นต้องเป็นแมวคราว ตามความเชื่อ พระราชมนเทียรของกษัตริย์ไทยว่า แมว 9 ชีวิต ชีวิตจะยั่งยืนมั่นคง ร่ำรวย
-หินบด เชื่อว่า ทำให้ชีวิตมีความหนักแน่นขึ้น
-ฟักเงิน ฟักทอง ฟักเขียว เข้าบ้านเสริมสิริมงคล
-พานข้าวเปลือก ถั่ว งา เข้าบ้านเป็นมงคล
-หม้อน้ำเงิน หม้อน้ำทอง เข้าบ้านจะได้มีเงินเต็มโอ่ง ทองเต็มโอ่ง
-ส้มเขียวหวานใส่พาน เชื่อว่า นำความสุขมาให้ครอบครัว
-เทียนคู่หรือตะเคียงคู่เข้าบ้าน จะได้อยู่คู่กันอย่างรุ่งเรืองตลอด
2.นำดอกไม้มงคลเข้าพิธีมงคลสมรส
-ถาด ถั่ว งา ข้าวเปลือก ข้าวโพด เล็ดฟักข้าว
-ใบรัก
-ใบเงิน ใบทอง ใบแก้ว
-ใบมะยม
-ดอกรัก ดอกดาวเรือง ดอกพุธ ดอกบานไม่รู้โรย ดอกกุหลาบ
-ดอกมะลิ ดอกทิวลิบ
-ขวดน้ำอบ รวมในถาดเดียวกัน
3.อาหารวันแต่ง เสริมมงคล
-ขนมจีน รักจะได้ยืนยาว แสดงถึงความผาสุกยืนนาน
-ขนมฝอยทอง เส้นยาว ๆ ทำให้มีเงินมีทองตลอดไป
-บะหมี่หยก เส้นยาว ๆ จะร่ำรวย มีทรัพย์สิน
อาหารห้ามในวันแต่ง
-ห้ามทำต้มยำ -ทะเลาะกันแหลก
-ห้ามทำยำต่าง ๆ -จะไม่ดีขึ้น
-ห้ามทำปลาร้า -จะทำให้เน่า
ห้ามทำแกงบอน -ปากบอน
4.พิธีร่วมเรียงเคียงหมอน
4.1 กราบขอพรกับพ่อแม่ เพื่อเป็นสิริมงคลต่อคู่ชีวิต
4.2 กราบพระแก้วมรกต , รัชกาลที่ 5 กวนอิม , พระประจำเมือง ให้คุ้มครองชีวิตคู่ให้อยู่เย็นเป็นสุข จนถือไม้เท้ายอดทองกระบองยอดเพชร
43 กราบ 6 ทิศ เสริมดวง
- ทิศตะวันออก บอกบิดามาดาให้พร
-ทิศใต้ บอกครูบาอาจารย์ ให้เจริญขึ้น
-ทิศตะวันตก บอกสามี ภรรยา อย่าทะเลาะเบาะแว้งกัน
-ทิศเหนือ บอกมิตรสหาย ให้ช่วยเหลือกัน
-ทิศเบื้องบน บอกสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ภิกษุ สามเณร ให้คุ้มครอง
-ทิศเบื้องล่าง บอกให้บ่าวไพร่ ให้เป็นบริวารที่ดี
5.เคล็ดการปูที่นอน
-เจ้าพิธีจะร้องเรียกว่า
นายบุญมั่น
นายบุญคง
นายบุญรวย
นายบุญสุข ขานรับทุกครั้ง (ใช่ ใช่ ใช่ มี มี มี)
และบิดามารดาเราพร้อมนายบุญทั้ง 4 ทิศ จับมุมผ้าปูนอน และดึง โปรยดอกไม้หอม เหรียญทอง ขอเทพ
คุ้มครองให้ร่มเย็นเป็นสุขเป็นอันเสร็จพิธี

ทรรศนะเกี่ยวกับบทบาทความสำคัญของประเพณีแต่งงานต่อสังคมไทย
     การแต่งงานถือเป็นการเริ่มต้นสำหรับการใช้ชีวิตคู่ ซึ่งจะเกิดขึ้นกับคนในทุกสังคม ทุกชาติ และทุกศาสนา แต่ แต่ละสังคม แต่ละชาติ และแต่ละศาสนา ก็จะมีพิธีกรรมและประเพณีที่แตกต่างกันออกไปนั้นก็ขึ้นอยู่กับกาลเวลาอีกด้วย แต่ที่เหมือนกันนั้นก็คือ ทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชายต้องอยู่ในวัยอันพอเหมาะสมควร มีหน้าที่การงานที่ดีพอที่จะพาครอบครัวให้อยู่รอดได้ และพร้อมที่จะเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่เรียกว่าชีวิตคู่และครอบครัวต่อไป
     ประเพณีแต่งงานของไทยเป็นประเพณีที่สำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะคนเราเกิดมาจากครอบครัวที่แตกต่างกันแต่จะต้องไปใช้ชีวิตร่วมกัน ถือเป็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่ของคน 2 คน ส่วนคนในครอบครัว ญาติพี่น้อง และมิตรสหายก็จะตื่นเต้นดีใจเป็นอย่างมาก ถือเป็นประเพณีที่เป็นมงคล โดยเฉพาะคุณพ่อ คุณแม่ ที่เลี้ยงเรามาจนเติบโตอย่างดียิ่ง แต่วันหนึ่งต้องให้เราไปมีชีวิตคู่กับคนอื่น ท่านคงทั้งดีใจ และใจหายไม่น้อย ในสังคมไทยก็จะมีพิธีต่างๆตามประเพณีแต่งงานมากมาย ซึ่งจะต้องใช้ในการแต่งงานเพราะคนไทยตั้งแต่สมัยโบราณมานั้นให้ความสำคัญกับประเพณีแต่งงานนี้เป็นอย่างยิ่ง ในแต่ละขั้นตอนของพิธีมีรายละเอียดเป็นอย่างมากแต่ในปัจจุบันคนที่ไม่ได้ผ่านพิธีแต่งงานก็มีจำนวนมากเช่นกัน เพราะเดี๋ยวนี้คนเรามองข้ามความสำคัญของการแต่งงานไปเยอะ ตามกาลเวา ทั้งๆที่พิธีแต่งงานเป็นพิธีที่ศักดิ์สิทธิมาก ของใช้ต่างๆจนรวมไปถึงอาหารก็ต้องมีความหมายที่ดีทุกสิ่งอย่าง จะเห็นได้ว่าสังคมไทยให้ความสำคัญของพิธีนี้จึงให้รายละเอียดของของที่ใช้ในงานให้มีแต่ความหมายที่ดีมาก เพื่อการเริ่มต้นชีวิตคู่ต่อไปนั้นปราศจากอุปสรรค์ ซึ่งเป็นความเชื่อที่สำคัญของคนไทย ดังนั้นเวลาที่คนไทยจัดงานแต่งงานจึงต้องมีพิธีการและขั้นตอนต่างๆ อย่างมากมาย โดยจะสังเกตุได้จากการแต่งงานของชาติอื่นๆไม่เห็นต้องมีรายละเอียดขนาดนี้ แต่สำหรับคนไทยนั้นไม่ได้เลย เพราะสังคมไทยให้ความสำคัญกับประเพณีแต่งงานเป็นที่สุดของประเพณีที่เกี่ยวกับชีวิตอีกประเพณีหนึ่งเลยที่เดียว

การปลูกกล้วย