จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ไผ่

 
          
 
           คนไทยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย รักธรรมชาติ ยิ้มแย้มแจ่มใสใจดี รักศิลปะ เสียงเพลงและดนตรี มีนิสัยอ่อนโยนอ่อนน้อมถ่อมตนและสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์และสภาพแวดล้อมได้เป็นอย่างดีมีภูมิปัญญาสามารถนำสิ่งที่ใกล้มือในท้องถิ่นมาประดิษฐ์เป็นเครื่องมือใช้สอยในชีวิตประจำวันได้อย่างสวยงามโดยเฉพาะไม้ไผ่ เป็นวัตถุดิบจากธรรมชาติที่มนุษย์นำมาใช้ประโยชน์โดยตรงหรือแปรรูปให้เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในการดำรงชีวิต คนไทยรู้จักคุ้นเคยและมีความผูกพันอย่างชนิดแยกไม่ออกมาตั้งแต่เกิดจนตาย กลายเป็นวัฒนธรรมสืบทอดกันต่อมา    "ไผ่" เป็นชื่อพันธุ์ไม้พวกหนึ่ง พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ กล่าวว่า ไผ่เป็นชื่อพรรณไม้พวกหนึ่ง ( Bambusa spp.) อยู่ในวงศ์ Graminese เป็นกอ ลำต้นสูง และเป็นปล้องๆ มีหลายชนิดมากกว่า ๑,๒๕๐ ขนิด ๕๐ ตระกูล เช่น ไผ่จีน ไผ่ป่า ไผ่สีสุก ไผ่เลี้ยง ไผ่ดำ เป็นต้น ไม้ไผ่เป็นพันธุ์ไม้ที่มีลักษณะเฉพาะที่แปลกไปจากพืชและพันธุ์ไม้อื่นๆ เพราะแม้ว่าไผ่มีลักษณะที่ควรจะเป็นต้นไม้ แต่ไผ่กลับถูกจัดเป็นหญ้าประเภทหนึ่ง และเป็น "หญ้ายักษ์" เพราะลำต้นสูง กลวงเป็นปล้องๆ หากสังเกตให้ดีจะเห็นว่าใบไผ่คล้ายกับใบหญ้า ไผ่ขยายพันธุ์ด้วยการแตกหน่อ เพราะหนึ่งในร้อยปีไผ่จึงอาจจะออกดอกสักครั้ง และหลังจากออกดอกแล้วก็ตาย ไผ่จะเติบโตอย่างรวดเร็วและจะโตเต็มที่ภายในสองเดือน และจะคงขนาดเช่นนั้นไปตลอดชีวิตของมัน ลำต้นของไผ่จะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ ๐.๗ - ๗ นิ้ว สูง ๑ - ๖๐ ฟุต ไผ่ขึ้นได้ทั้งในบริเวณที่มีอากาศอบอุ่นและอากาศเย็นต่ำกว่าศูนย์องศา ไผ่จึงเป็นไม้ที่มีมากในบริเวณเอเซียและแปซิฟิค อเมริกาใต้บางท้องถิ่น

คุณลักษณะพิเศษของ "ไผ่"
           ๑.ไผ่โตเร็วสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ภายในเวลา ๑ - ๔ ปี และใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ตั้งแต่รากไผ่เป็นสมุนไพรอย่างหนึ่งที่ใช้เป็นยารักษาโรคได้ หนิอไผ่หรือหน่อไม้ใช้ทำอาหาร กาบหรือใบไผ่ใช้ห่ออาหารหรือหมักปุ๋ย กิ่งและแขนงใช้ทำรั้ว ลำต้นใช้ประโยชน์ได้สารพัดอย่าง ตั้งแต่นำมาใช้ปลูกสร้างที่พักอาศัยและแปรรูปเป็นเครื่องจักสานและเครื่องมือเครื่องใช้นานาชนิดจนถึงนำมาใช้เกี่ยวกับความเชื่อและพิธีกรรมต่างๆ ตั้งแต่เกิดจนตาย
           คังนั้นชาวนาจึงมักปลูกไผ่ตามหัวไร่ปลายนา และปลูกไว้รอบๆบ้าน เพื่อใช้เป็นรั้วบ้านและป้องกันพายุ เพราะไม้ไผ่จะลู่ตามลมไม่หักโค่นเหมือนไม้อื่น หากปลูกไผ่ไว้ตามริมแม่น้ำลำคลอง จะช่วยชะลอความเร็วของกระแสน้ำไม่ให้ดินพัวทะลายง่าย นอกจากนี้ไผ่ยังใช้เป็นอาหารในครัวเรือนได้ด้วย

           ๒. ไผ่มีลำต้นตรงและกลวงคล้ายหลอดและมีปล้องข้อคั่นเป็นปล้องๆ จึงใช้เป็นภาชนะประเภทกระบอก ถ้วย สำหรับใส่ของเหลว เช่นใช้เป็นกระบอกน้ำ กระบอกน้ำตาล ซึ่งใช้กันทั่วไปในหลายประเทศ ลักษณะพิเศษของไม้ไผ่นี้สามารถนำมาใช้สร้างอาคารที่พักอาศัยได้ โดยนำมาทำเป็นโครงสร้างของบ้านเรือน ใช้เป็นพื้นเรือน ฝาเรือน ใช้ทำรางน้ำ ท่อน้ำ และทำเครื่องดนตรีประเภทขลุ่ยได้ดีอีกด้วย
          ๓. เนื้อไผ่เป็นเส้นตรงมีความยืดหยุ่นในตัวเองและสามารถคินตัวสู่สภาพเดิมได้ เมื่อนำไม้ไผ่มาแปรรูปก็จะสามารถใช้ประโยชน์ได้ดี เพราะเนื้อไม้ไผ่เป็นเส้นตรง นำมาจักเป็นปื้นบางๆ หรือเหลาเป็นเส้นได้ดี จึงใช้ทำเครื่องจักสานนานาชนิดได้ ทั้งเครื่องจักสานที่มีขนาดใหญ่ แข็งแรงมั่นคง สำหรับใช้งานหนักจนถึงเครื่องจักสานขนาดเล็กที่มีความปราณีตบอบบาง และเพราะคุณสมบัติในที่มีความยืดหยุ่น จึงเหมาะที่จะใช้เป็นเครื่องหาบหรือหาม เช่น คาน คันกระสุน คันธนูและเมื่อแปรรูปเป็นตอกก็ยังมีความยืดหยุ่นคืนรูปทรงเดิมได้ง่ายจึงทำให้ภาชนะจักสานที่ทำจากไผ่มีคุณลักษณะพิเศษต่างไปจากภาชนะที่ทำจากวัตถุดิบชนิดอื่น
           ๔. ไม้ไผ่มีความสวยงามในตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นผิวที่มีสีต่างๆ กันเมื่อแห้งแล้วมักจะมีสีเหลืองอยู่เช่นนั้นตลอดไป ด้วยคุณสมบัติพิเศษนี้ ชาวเอเซียจึงใช้เหล็กหรือโลหะเผาไฟจนร้อนแล้วเขียนตัวอักษรหรือลวดลายลงบนผิวไม้ไผ่ ( Bamboo Pyrographic ) เช่นจีนจารึกบทกวีบนผิวไม้ไผ่ ชาวญี่ปุ่นใช้เขียนชื่อเจ้าของบ้านแขวนไว้หน้าบ้านและจารึกบทกวีแขวนไว้สองข้างประตูเรือนน้ำชา ( Tea House ) ชาวเกาหลีใช้เขียนเป็นลวดลายบนเครื่องใช้ เช่นเดียวกับที่ชาวบาตัก ( Batak) ในประเทศอินโดนีเซีย ใช้เหล็กเผาไฟ ขูด ขีด เขียน ลงบนกระบอกไม้ไผ่ สำหรับเก็บยาหรือทำเป็นปฏิทิน ในขณะที่ชาวบาหลีใช้จารลงบนผิวไผ่เป็นแผ่นๆ เพื่อใช้เป็นคัมภีร์ในศาสนาตน นอกจากไม้ไผ่จะมีผิวสวยแล้ว เนื้อไผ่ยังมีลักษณะพิเศษต่างจากเนื้อไม้อื่นคือ มีเสี้ยนยาวขนานกันเป็นเส้น จึงแปรรูปเป็นเส้น เป็นปื้น หรือเหลาให้กลมได้ง่าย และเมื่อแก่เต็มที่แล้วจะเป็นเส้นละเอียดแข็ง มอดแมลงไม่กินจนมีผู้กล่าวว่า เครื่องจักสานไม้ไผ่นั้น ผู้สานสามารถสานให้เป็นรูปทรงแปลกๆ แตกต่างกันได้มากมาย จนเครื่องจักสานบางชิ้นมีรูปทรงและผิวสวยงามดุจงานประติมากรรมสมัยใหม่ทีเดียว
                                    ประโยชน์จาก"ไผ่"
1.  ด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติ
-   ป้องกันการพังทลายของดินตามริมฝั่ง
-   ช่วยเป็นแนวป้องกันลมพายุ
-   ชะลอความเร็วของกระแสน้ำป่าเมื่อฤดูน้ำหลากกันภาวะน้ำท่วมฉับพลัน
-   ให้ความร่มรื่น
-   ใช้ประดับสวน จัดแต่งเป็นมุมพักผ่อนหย่อนใจในบ้านเรือน
2.  ประโยชน์จากลักษณะทางฟิสิกส์
จากความแข็งแรง ความเหนียว การยืดหด ความโค้งงอ และการสปริงตัว ซึ่งเป็นคุณลักษณะประจำตัวของไม้ไผ่ เราสามารถนำมันมาใช้เป็นวัสดุเสริมในงานคอนกรีต และเป็นส่วนต่างๆ ของการสร้างที่อยู่อาศัยแบบประหยัดได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
3.  ประโยชน์จากลักษณะทางเคมีของไม้ไผ่
- เนื้อไผ่ใช้บดเป็นเยื่อกระดาษ
- เส้นไยใช้ทำไหมเทียม
- เนื้อไผ่บางชนิดสามารถสกัดทำยารักษาโรคได้
- ใช้ในงานอุตสาหกรรมนานาชนิด
4  การใช้ไม้ไผ่ในผลิตภัณฑ์หัตถกรรม และอุสาหกรรม  แบ่งออกได้   ดังนี้        ผลิตภัณฑ์เครื่องจักสานจากเส้นตอก ได้แก่ กระจาด  กระบุง  กระด้ง  กระเช้าผลไม้  ตะกร้าจ่ายตลาด  ชะลอม  ตะกร้าใส่ขยะ  กระเป๋าถือสตรี   เข่งใส่ขยะ  เครื่องมือจับสัตว์น้ำ เช่น ข้องใส่ปลา  ลอบ  ไซ ฯลฯ
ผลิตภัณฑ์จากลำต้น และกิ่งของไม้ไผ่  ได้แก่  เก้าอี้  โต๊ะ  ชั้นวางหนังสือ  ทำด้ามไม้กวาด ไม้เท้า คันเบ็ด ราวตากผ้า โครงสร้างบ้านส่วนต่างๆ ทำแคร่ นั่งร้านก่อสร้าง  ท่อส่งน้ำ    รางน้ำ
ผลิตภัณฑ์จากเนื้อไม้ไผ่ ได้แก่  ถาดใส่ขนม   ทัพพีไม้    ตะเกียบ    ไม้เสียบอาหาร
 กรอบรูป  ไม้ก้านธูป ไม้พาย ไม้เกาหลัง เครื่องดนตรี พื้นบ้าน ไม้บรรทัด
        ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากไผ่ซีกได้แก่  โครงโคมกระดาษ   โครงพัด  โครงร่ม  ลูกระนาด
 คันธนู  พื้นม้านั่ง  แผงตากปลา  สุ่มปลา  สุ่มไก่
       5. ประโยชน์ทางด้านการบริโภค เช่น การนำหน่อไม้ไผ่มาทำเป็นอาหาร ไม่ว่าจะเป็นซุบ แกง ต้ม หรือนำมาดองจิ้มน้ำพริก

ไผ่..กับวิถีชีวิตคนไทยในอดีต ไม่มีใครปฏิเสธได้เลยว่าไผ่เคียงคู่กับคนไทยทั้งในเมืองและชนบท ร้อยละ 80 ของบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ประกอบด้วยไผ่ตั้งแต่เสาเรืิอน(กระท่อมไม้ไผ่) พื้นบ้าน ฝาบ้าน ส่วนประกอบของบ้านเรือนเกือบทั้งหมดเป็นไม้ไผ่ที่ถูกบรรจงสร้างอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย และของใช้ในชีวิตประจำวันทั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น กระจาด กระด้ง ตระกร้า กระบุง ที่นึ่งข้าว ฯลฯ อีกมากมายที่แปรรูปจากไม้ไผ่ทั้งสิ้น ตั้งแต่เกิดจนตายเราจะเห็นต้นไผ่ปลูกไว้ข้างรั้วรอบบ้านเป็นทั้งแนวป้องกันขโมย พร้อมทั้งป้องกันลม ในส่วนของหน่อไม้ก็สามารถมาทำอาหารได้หลากหลาย ลำไผ่ทุกส่วนล้วนเป็นประโยชน์ทั้งสิ้นไผ่.... ลดต้นทุนการครองเรือนมหาศาล เช่นใช้สร้างบ้าน โรงเรือนเลี้ยงสัตว์ ปลูกพืช เครื่องมือจับสัตว์ ทั้งสัตว์น้ำและสัตว์บก เราจะเห็นว่าการลงทุนในทุกรูปแบบที่ใช้ไผ่เข้ามาเป็นส่วนประกอบเพราะไผ่ราคาถูกและอาจไม่ได้ซื้อเลยถ้าเราปลูกไผ่ไว้ไผ่... ในปัจจุบันถูกบรรจงสร้างมาเป็นส่วนประกอบในบ้านเรือนราคาสูง เช่น ใช้ไม้ไผ่อัีดตีฝ้า ตกแต่งประดับบ้านที่อยู่อาศัย สร้างบรรยากาศได้อย่างลงตัวและสร้างความรู้สึกในความเป็นไทยได้อย่างฝังลึกใครก็ต้องมองและชื่นชมทุกวันนี้ ไผ่... เข้ามามีบทบาทในครัวเรือนพืชปลอดภัยจากสารพิษ ที่หาง่ายราคาถูก เพียงมีไผ่อยู่ริมรั้วบ้านไม่กี่ต้นก็สามารถลดภาระการเงินได้เป็นอย่างดี มื้อนี้และมื้อหน้าต้มหน่อไม้ และแกงหน่อไม้ ก็ยังเป็นอาหารจานโปรดที่ได้รสชาติบวกความประหยัดอีกทางเลือกหนึ่งชีวิตที่ย้อนกลับ.... ทุกวันนี้ที่ผ่านมาเราพยายามจะลืมไผ่หันมาใช้วัสดุอื่นทดแทน เช่น เหล็ก ปูน กระเบื้อง มาถึงวันนี้ทุกคนเริ่มรู้แล้วว่าโรคภัยต่าง ๆ ที่รุมเร้าเข้ามาจากสิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อสุขภาพ แตกต่างกับวิถีชีวิตที่เป็นธรรมชาติโดยสิ้นเชิง หลายชีวิตเริ่มไขว่คว้าหวนคืนสู่กลับธรรมชาติ ชอบอยู่ ชอบนอน ชอบพักผ่อนกับร่มไม้ และกระท่อมริมสวน ริมคลอง และกระท่อมปลายนา ที่มีบรรยากาศของความสดชื่นบริสุทธิ์รอบทิศทางของที่อยู่อาศัยมีสานลมพัดผ่านไม่ใช่กลิ่นไอเย็นจากเคมีของเครื่องปรับอากาศ แต่เป็นกลิ่นไอของลมเย็นธรรมชาติที่ถูกปรุงแต่งกลิ่นของสมุนไพร ไม้หอมนานาพันธุ์ ถ้าได้นอนหลับซักตื่นดูเหมือนชีวิตที่ตื่นมาในวันรุ่งเป็นโลกใบใหม่ร่างกายและจิตใจดูเข้มแข็งขึ้นมาทันที นี่เพียงชั่วคืนเท่านั้นนี่คือ ... ธรรมชาติของไม้ไผ่ ซึมซับความชุ่มเย็นไว้ตลอดลำไผ่กักและเก็บน้ำชุ่มไว้ที่รากจากหนึ่งหยด... รวมเป็นร้อยหยด พันล้านหยดรวมเป็นน้ำตก ลำธารใสเย็ฯฉ่ำมาเสมอมา และนี่คือต้นน้ำที่แท้จริงก็จากรากไผ่นี่เองเมื่อวิถีชีวิตเราขาดไผ่ แล้วไม่เป็นสุข ฉะนั้นเราจะต้องช่วยกันปลูกไผ่ให้เต็มบ้านเต็มเมือง แล้ววันนี้...คุณปลูกไผ่สักต้นหรือยัง ?