จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

มะละกอ

Pic_97137

ในตำรายาแผนไทยระบุชื่อสมุนไพรมีไม่ต่ำกว่า 19 ชนิด ที่มีสรรพคุณใช้เป็นยาบำบัดเกี่ยวกับไต และในจำนวนนั้นมีมะละกอรวมอยู่ด้วย ซึ่งในวันนี้จะขอกล่าวถึง “รากมะละกอ” บำบัดเกี่ยวกับไตเพียงอย่างเดียว โดยใครที่เริ่มจะมีอาการของโรคไตไม่ใช่เป็นมานานแล้ว ในตำรายาแผนไทย ให้เอา “รากมะละกอ” กะจำนวนตามต้องการ หรือพอประมาณต้มกับน้ำจนเดือดแล้วดื่มขณะยังอุ่นครั้งละ 1 แก้ว วันละ 2 ครั้ง เช้าเย็นก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ ดื่มจนยาจืด ไม่จำเป็นจะต้องกินติดต่อกันแบบประจำ กินวันเว้นวัน หรืออาทิตย์เว้นอาทิตย์ก็ได้ ดื่มประมาณ 1 เดือนจะสังเกตได้ว่าอาการเกี่ยวกับไตจะดีขึ้น ใครที่มีอาการเกี่ยวกับไตใหม่ๆ ทดลองต้มดื่มได้ไม่มีอันตรายอะไร หากไม่ถูกโฉลกก็หยุดเลย
มะละกอ หรือ CARICA PAPAYA LINN. อยู่ในวงศ์ CARICACEAE มีต้นขายทั่วไปที่ตลาดนัดไม้ดอกไม้ประดับ สวนจตุจักร ทุกวันพุธ-พฤหัสฯ ส่วนผลมีขายตามตลาดสดทั่วไป มีสรรพคุณคือ รากและก้านใช้เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ หนองใน ยางใช้กัดแผลและฆ่าแม่พยาธิทั้งปวง ยาพื้นบ้านบางแห่งใช้ต้นมะละกอที่ไม่สูงใหญ่นักทั้งต้นมัด 3 เปลาะต้มน้ำเดือดรับประทานจนจืดเป็นยาแก้มุตกิด ขับระดูขาว ใบต้มดื่มเป็นยาบำรุงหัวใจ ขับพยาธิ แก้ไข้ แก้บิด แก้ปวดบวม ขับปัสสาวะ ผลสุก บำรุงน้ำนม ระบายท้อง ยางจากผลดิบกัดหูด ไฝ ฝ้า ยาง ทำครีมทากันส้นเท้าแตก
ต้นมะละกอส่วนโคนที่ติดกับดิน หั่นเป็นชิ้นบางๆ เล็กๆ นวดกับเกลือป่นทำเป็นหัวไชโป๊รับประทานได้ กระดานดำ ของ “หมอดู” สมัยโบราณทำจากต้นมะละกอแห้งลงรักทาเขม่าไฟเป็นกระดานชนวนที่เบามาก ตกไม่แตก เขียนติดดี ใช้ได้หลายชั่วคน (ปัจจุบันไม่มีแล้ว) ลำต้นกับก้านใบกะพอประมาณต้มน้ำ รวมกับเสื้อผ้ายกเว้นผ้าห่มซักแทนสบู่ได้อีกด้วย

น้ำมะละกอปั่น

Papaya-juice

มะละกอเป็นผลไม้คู่บ้านคู่เมืองของคนไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ ผลดิบนำมาทำอาหารคาว ได้เช่น แกงส้ม ส้มตำ ส่วนผลสุกก็นำมารับประทานเพื่อช่วยให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น หรือจะนำมาทำเป็นน้ำผลไม้ยิ่งน่าดื่ม เพราะสีสันสวยงามและมีกลิ่นหอมอีกด้วยค่ะ ส่วนผสมและวิธีทำก็ไม่ยาก ลองทำดูเลยค่ะ
ส่วนผสม
  1. เนื้อมะละกอสุกหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ
  2. น้ำแข็งเกล็ด
  3. น้ำเชื่อม
  4. เกลือ เล็กน้อย
วิธีทำ
นำทุกอย่างเข้าเครื่องปั่น เมื่อได้ที่แล้วเทลงใส่แก้วทรงสูง เสิร์ฟทันที
น้ำมะละกอปั่นเป็นเครื่องดื่มที่เหมาะกับอากาศเมืองไทย แก้ร้อนผ่อนกระหายได้ดีมาก และที่สำคัญสามารถทำดื่มได้ตลอดทั้งปี เพราะมะละกอเป็นผลไม้ที่หาซื้อได้ในทุกฤดูกาล

มะละกอ

มะละกอ (Papaya) เป็นผลไม้ไทยที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ประโยชน์ของมะละกอมีมากมายไม่ว่าจะนำมาทำเป็นอาหารเช่น แกงส้มมะละกอ ทำเป็นเครื่องดื่มสมุนไพรเป็นชามะละกอ หรือแม้แต่นำผลสุกมาปอกกินเล่นก็ยังมีประโยชน์ช่วยให้ขับถ่ายง่ายป้องกันท้องผูก อีกทั้งมะละกอเป็นพืชที่ปลูกง่ายการปลูกมะละกอไม่ต้องการการดูแลมากอาศัยพื้นที่ว่างบริเวณรั้วบ้านก็ใช้เป็นที่ปลูกมะละกอได้แล้วเพียงแต่ต้องคอยระวังอย่าให้มีน้ำท่วมในบริเวณที่ปลูกมะละกอก็พอ ยอมเสียพื้นที่ในการปลูกมะละกอไว้แถวบริเวณบ้านสัก 1-2 ต้นรับรองว่าประโยชน์ของมะละกอที่ได้รับจะคุ้มเกินคุ้มอย่างแน่นอน

มะละกอ (Papaya) เป็นพืชยืนต้น สูงประมาณ 3-4 เมตร ลำต้นตั้งตรง เนื้อลำต้นจะอ่อน ลักษณะผลของมะละกออาจมีรูปร่างทั้งเป็นลูกกลมหรือทรงยาวรีแล้วแต่พันธุ์ของมะละกอ มะละกอที่ยังดิบอยู่เปลือกนอกจะมีสีเขียวพอผลมะละกอสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองออกส้ม มะละกอเป็นพืชที่ไม่ชอบให้มีน้ำท่วมขังเพราะจะทำให้รากเน่าและตายได้ มะละกอเป็นพืชที่นิยมปลูกในบริเวณรั้วบ้านวิธีการปลูกมะละกอทำได้ง่ายเพราะมะละกอเป็นพืชที่ไม่ต้องการการดูแลมากนักและทนต่อความแห้งแล้งได้ดีพอสมควร หากมีต้นมะละกอในบริเวณบ้านระวังอย่าให้น้ำท่วมก็พอ ประโยชน์ของมะละกอสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้เกือบทุกส่วนของต้นเลยทีเดียว

ประโยชน์ของมะละกอ เริ่มจากส่วนที่เป็นใบและยอดของมะละกอนำมาใช้ปรุงอาหารได้ ส่วนของลำต้นมะละกอภายในจะเป็นเนื้อสีขาวครีมลักษณะเนื้อจะอ่อนนุ่มคล้ายกับหัวผักกาดจีนที่เราสามารถนำไปปรุงเป็นอาหารได้เหมือนกันจะเป็นการดองเค็มหรือตากแห้งเก็บไว้กินก็ได้ ประโยชน์ของมะละกอเมื่อใช้ปรุงเป็นอาหารจะมีประโยชน์และคุณค่าทางโภชนาการสูง มีสารอาหารที่สำคัญหลายอย่างเช่น วิตามินเอ วิตามินบี วิตามินซี (Vitamin A B C) ธาตุเหล็กและแคลเซียม สารอาหารเหล่านี้ล้วนมีประโยชน์ต่อสุขภาพทั้งสิ้น

ประโยชน์ของมะละกอดิบ ผลดิบของมะละกอที่มีเปลือกสีเขียวนั้นภายในจะมียางสีขาวข้นเรียกกันว่ายางมะละกอ สรรพคุณของยางมะละกอใช้หมักเนื้อทำให้เนื้อนุ่มและเร่งให้เปื่อยเร็วขึ้นเมื่อต้มและหากนำยางมะละกอไปสกัดเป็นเอนไซม์ที่มีชื่อว่าปาเปอีน (Papain Enzyme) สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางได้อีกด้วย  ประโยชน์ของมะละกอดิบยังใช้เป็นยาสมุนไพร (Herb) เป็นยาระบายอ่อนๆช่วยในการขับปัสสาวะหรือจะนำผลมะละกอดิบไปทำเป็นเครื่องดื่มสมุนไพรคือ ชามะละกอ ที่มีสรรพคุณในการล้างลำไส้จากคราบไขมันที่เกาะติดอยู่ที่เกิดจากการกินอาหารที่ผัดด้วยน้ำมันเป็นประจำ เมื่อชามะละกอช่วยล้างคราบไขมันที่ผนังลำไส้ออกไปแล้วจะทำให้ระบบดูดซึมสารอาหารทำงานได้เต็มที่

วันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

กล้วยกับประเพณีไทย

ประวัติพิธีแต่งงาน
พิธีแต่งงาน คือพิธีที่จัดทำขึ้น เพื่อให้ชายหญิงได้อยู่กินกันเป็นสามีภรรยากันถูกต้องตามประเพณี โดยเชิญญาติมิตรมาร่วมพิธีและเป็นสักขีพยาน การเรียกพิธีแต่งงานในปัจจุบันว่า พิธีมงคลสมรส นั้น เป็นการนำคำว่า เสกสมรส ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบัญญัติขึ้น เพื่อใช้เรียกพิธีแต่งงานของเจ้านายมาใช้ แต่ได้มีการตัดคำว่า เสก ออกไป จึงเรียกเพียงว่า พิธีมงคลสมรส พิธีแต่งงานในปัจจุบันแตกต่างจากสมัยก่อน ที่เห็นเด่นชัดคือ พิธีแต่งงานหมู่ หรือที่เรียกว่า พิธีสมรสหมู่ คือการจัดพิธีแต่งงานของเจ้าบ่าวและเจ้าสาว จำนวนหลายๆคู่พร้อมกัน เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการจัดงานและเป็นการนำประเพณีและวัฒนธรรมมาปรับให้เข้ากับสภาพเศรษฐกิจ และสังคมในปัจจุบัน
พระยาอนุมานราชธน เสถียรโกเศศ เล่าถึงพิธีแต่งงานในสมัยก่อนอย่างละเอียด ในหนังสือ ประเพณีเรื่องแต่งงาน บ่าวสาวไทย ว่า พิธีแต่งงานจะเริ่มมีขึ้นได้ ต่อเมื่อฝ่ายชายได้จัดผู้ใหญ่เป็นตัวแทนไปเจรจาสู่ขอหญิง เมื่อทางผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงตกลงปลงใจด้วยแล้ว ฝ่ายชายจึงวานผู้มีหน้ามีตา หรือผู้สูงอายุไปเจรจาสู่ขอ และทำความตกลงเรื่องขันหมากหมั้น เมื่อเจรจากันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงนัดหมายวันที่จะส่งขันหมากหมั้นไปสู่ขอตามธรรมเนียม
ฤกษ์วันหมั้น พิธียกขันหมาก
พ่อแม่และผู้เป็นเฒ่าแก่ ของฝ่ายชาย ต้องจัดเตรียมขันหมากเอก โท และขนมขันหมากไว้ให้เรียบร้อย ซึ่งขันหมากเอก คือขันที่บรรจุหมากพลู ใบเงินใบทอง ถุงข้าวเปลือก ถั่วงา ขันหมากโท หรือขันเงินทุน ขันสินสอด ส่วนการจัดขบวนขันหมากโท และเครื่องบริวารมักจัดกันเป็นเลขคู่ ที่ขาดไม่ได้คือต้นกล้วยต้นอ้อย มีความเชื่อกันว่า จะต้องขุดมาให้ติดราก หรือมีหน่อที่สมบูรณ์ โดยขุดมาเป็นคู่ นำมาประดับตกแต่งด้วยกระดาษสีให้ดูสวยงาม ซึ่งเจ้าบ่าวเจ้าสาวจะต้องทำการปลูกร่วมกัน คล้ายกับการเสี่ยงทายอย่างหนึ่ง ซึ่งหากต้นกล้วยเจริญเติบโตออกดอกออกผลสมบูรณ์ และต้นอ้อยเติบโตหอมหวาน เชื่อกันว่าความรักของหนุ่มสาวคู่นี้ จะเป็นไปอย่างราบรื่น มีลูกเต็มบ้านมีหลานเต็มเมือง ความรักจะสดชื่นหอมหวานอยู่มิรู้คลาย
 เครื่องขันหมากหมั้น

           ขั้นตอนพิธีแต่งงานแบบไทยแต่งงานแบบไทย
           หลายคนเคยได้ยินแต่ขบวนขันหมากแต่ง แต่ไม่รู้ว่ามีขันหมากสำหรับพิธีหมั้นด้วยซึ่งพิธี ก็เหมือนเป็นการประกาศว่า ผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายเห็นชอบ
ขบวนขันหมากหมั้น จะมีขันใส่หมาก และขันใส่ของหมั้น


          ขันใส่หมาก  จะมีหมากดิบ 8 ผล พลู 4 เรียง (เรียงละ 8 ใบ) หรืออาจใช้มากกว่านี้ก็ได้ ขึ้นอยู่กับธรรมเนียมของแต่ละท้องถิ่น ขอแค่ให้เป็นจำนวนเลขคู่

          ขันใส่ของหมั้น ซึ่งในสมัยก่อน มักจะเป็นทองรูปพรรณ เครื่องเพชรพลอย สร้อยต่างหูกำไลหรือแหวนทองมรดก จากบรรพบุรุษ ห่อไว้ด้วยผ้าหรือกระดาษสีแดง ให้เรียบร้อย สวยงาม ก่อนบรรจุ ลงในขัน สมัยนี้เปิด ผ้าแดงออกมามีแต่ธนบัตรล้วนๆ หลายปึกเรียงซ้อนกัน ก็นับว่าเข้าทีเหมือนกัน

          ขันประกอบ มีการเพิ่มขันที่สามเข้าไปเพื่อเป็นขันประกอบโดยบรรจุใบเงินใบทอง ถุงเล็กถุงน้อยที่ใส่ข้าวเปลือก ข้าวตอก ถั่วเขียว และงา (เป็นจำนวนคู่) ซึ่งจัดไว้เพื่อเอาความหมายเกี่ยวกับความเจริญรุ่งเรืองและความงอกงามในวันข้างหน้า ส่วนขันใส่หมาก ขันใส่ของหมั้น ขันใส่ข้าวเปลือก ถั่วงา และใบเงินใบทอง ทั้งหมดจัดแต่งอย่างประณีต อาจมีการเย็บใบตองจับจีบประดับด้วยมาลัย ดอกรักและบานไม่รู้โรยแล้วคลุมด้วยผ้าอย่างดีให้เรียบร้อยสวยงาม


การเจรจาหมั้นหมาย
             เมื่อผู้ใหญ่ทางฝ่ายชายให้คนยกเครื่องขันหมากหมั้นลงจัดวางเรียบร้อยแล้ว จึงเจรจากับผู้ใหญ่ของฝ่ายหญิง แจกแจงว่าของที่นำ มาหมั้นมีอะไรบ้าง พอให้ผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงเปิดดูข้าวของว่าถูกต้องครบถ้วนแล้ว ค่อยให้คนของฝ่ายตัวเองยกของทั้งหมดเข้าไปเก็บ ตามตัวเจ้าสาวออกมารับหมั้น หลังจากนั้นจึงส่งภาชนะถาดขันทั้งหลายเหล่านั้นออกมาคืน ซึ่งส่วนใหญ่ครอบครัวฝ่ายหญิงมักเตรียม ของขวัญเล็กน้อยมีมูลค่า ต่างกันไปตามสถานะผู้รับไว้ให้ขบวนของฝ่ายชายครบทุกคนด้วย นอกจากนี้ในสมัยก่อนบ้านฝ่ายหญิงอาจ ต้องเตรียมพานใส่หมากพลูไว้ต้อนรับผู้ใหญ่ฝ่ายชายด้วย แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีใครกินหมาก ก็จะละไว้ไม่ต้องจัดเตรียมเรื่องของพิธีหมั้น มีบางกรณีที่ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน ว่าจัดรวบเสียวันเดียวกับงานแต่งก็ได้ โดยยกขบวนทั้งของหมั้นของแต่งในคราวเดียวเพื่อ ความสะดวก สำหรับกรณีที่ไม่เคร่งครัดจะไม่มีหมากพลูของหมั้นขันถาดอะไรเลย แค่ล้วงหยิบกล่องใส่แหวนออกมาจากกระเป๋า เสื้อเท่านั้นก็ย่อมได้ ถ้าทำความเข้าใจกันไว้แล้วอย่างดีแล้วค่อยไปให้ความสำคัญกับรายละเอียดของงานแต่งเพียงอย่างเดียวก็พอ

เครื่องขันหมากแต่ง

           ขันหมากงานแต่งก็คล้ายกันกับขันหมากหมั้น เพียงแต่มีเครื่องประกอบเยอะกว่า มีการจัดหมวดหมู่ต่างออกไป คือต้องจัดแยกเป็นขันหมากเอก และขันหมากโท ซึ่งฝ่ายเจ้าบ่าวจะทำหน้าที่ยกไป เพื่อมอบใหเกับครอบครัวของฝ่ายเจ้าสาว ขันหมากเอก ประกอบด้วยขันหมากบรรจุหมากพลู หรืออาจจัดแยกเป็นหมากหนึ่งขันและพลูอีกหนึ่งขันก็ได้ จากนั้นต้องมีขันเงินสินสอดตามจำนวน
ที่ได้ตกลงกันไว้ โดยบางตำราระบุว่า ควรจะต้องมีถุงเล็ก ถุงน้อยใส่ถั่วงา ข้าวเปลือก ข้าวตอกใสามาในขันนี้ด้วย แต่ธรรมเนียมบางแห่งจัดแยกกัน คือจัดเงินสินสอดใส่ห่อผ้าลงในขันหนึ่ง แล้วจัดถุงข้าวและถั่วงาลงขันอีกใบหนึ่ง แต่ไม่ว่าจะอย่างไรสิ่งสำคัญคือ ต้องตกแต่ง
ให้เรียบร้อยสวยงาม เช่นประดับ มาลัยดอกรักบาน ไม่รู้โรย ใบตองประดิษฐ์ และมีผ้าคลุมไว้ทุกขันเพื่อความเหมาะสม และต้องจัดให้ขันบรรจุหมากพลูมีขนาดใหญ่กว่าขันอื่นๆ ด้วย นอกจากนี้ ขันหมากเอกประกอบด้วยพานผ้าไหว้และเตียบเครื่องคาวหวาน จัดไว้เป็นจำนวนเลขคู่ตามเคย พานไหว้ ได้แก่ พานใส่ผ้าสำหรับไหว้ผู้ใหญ่ฝ่ายหญิง โดยมากจัด 3 สำรับ สำรับแรกเป็นผ้าขาวสำหรับนุ่ง 1 ผืนและห่ม 1 ผืน เทียนและธูปหอม ดอกไม้อีกกระทง อันนี้สำหรับเซ่นไหว้ผีปู่ย่าตายาย ส่วนอีก 2 สำรับใช้ไหว้พ่อและแม่เจ้าสาว ไม่ต้องมีธูปเทียนและดอกไม้ กรณีที่ปู่ย่าตายายยังมีชีวิตอยู่ ก็ไม่ต้องจัดพานผ้าไหว้เซ่นบรรพบุรุษ หรือผ้าไหว้สำหรับพ่อตาแม่ยายแทนที่จะใช้ผ้าเป็นผืนอาจเปลี่ยนเป็นเสื้อผ้าที่ท่านจะนำไปใช้งานได้จริง เตียบ คือภาชนะชนิดหนึ่งสำหรับใส่เครื่องของกิน
เป็นตะลุ่มที่มีปากผายออกและมีฝาครอบ เตียบเครื่องคาวหวานในเครื่องขันหมากเอก มีไว้เพื่อเซ่นไหว้ผีปู่ย่าตายายหรือผีบ้านผีเรือนของบ้านเจ้าสาว โดยให้จัดไว้ 4 เตียบ เตียบแรกจะใส่เหล้า 1 ขวด เตียบสองไก่ย่าง 1 ตัว เตียบสามใส่ขนมจีนน้ำยาและห่อหมกปลาเตียบสี่เป็นมะพร้าวอ่อน ส้ม กล้วย รวมกับขนมหวานชนิดอื่นๆ ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถปรับเปลี่ยนได้ ด้วยแต่ละท้องถิ่นมีธรรมเนียมนิยมเรื่องอาหารต่างกันออกไปอยู่แล้ว ขอเพียงให้มีเหล้า 1 เตียบ และผลไม้ของหวาน 1 เตียบ ก็เป็นอันใช้ได้ ส่วนตัวเตียบนั้นอาจดัดแปลงเปลี่ยนเป็นพานหรือถาดก็ไใช้ได้เช่นกัน แต่ขอให้เตรียมผ้าสวยๆ ไว้คลุมปิดให้เรียบร้อยเป็นพอ (ในบางงานตัดการจัดเตียบออกไปเลยเพราะปู่ย่าตายายก็ยังอยู่กันครบแถมไม่ได้จัดงานที่บ้านจึงไม่ ต้องเซ่นไหว้ผีบ้านผีเรือน) ขันหมากโท เป็นเครื่องของประเภทขนมและผลไม้ บรรจุมาในขันหรือภาชนะอื่น เช่นถาดหรือ พาน ชนิดของขนมและผลไม้ไม่จำกัด ต่ส่วนมากมักใช้ชนิดที่นิยมในงานมงคลมีกล้วย ส้ม มะพร้าวอ่อน ขนมชั้น ฝอยทอง ข้าเหนียวแก้ว กะลาแม จัดเป็นคู่ทั้งจำนวนชิ้นขนม จำนวนภาชนะที่บรรจุ แล้วปักธงกระดาษสีแดงตกแต่งไว้ตรงกลางทุกขันหรือทุกถาด



องค์ประกอบของขบวนขันหมาก

          ลำดับขั้นก่อนหลังการจัดขบวนนั้น ต้องเริ่มต้นด้วยเถ้าแก่ของฝ่ายเจ้าบ่าว ตามมาด้วยคนยกขันหมากเอก ซึ่งต้องเรียงตามลำดับคือ คนยกขันหมากพลู ขันเงินสินสอด ขันผ้าไหว้ และเตียบ หลังจากนั้นถึงต่อท้ายด้วยคนยักขันหมากโทอีกที ที่เห็นกันบ่อยๆ จนแทบจะกลายเป็นสัญลักษณ์ของขบวนขันหมาก คือวงกลองยาวที่ตีฆ้องร้องรำนำหน้าขบวนกันมา สิ่งที่ช่วยสร้างสีสันอีกอย่าง ได้แก่ การตกแต่งหน้าขบวน ซึ่งนิยมใช้ต้นอ้อย 1 คู่ ถือเป็นการเอาเคล็ดเรื่องความหวาน ในบางท้องถิ่นใช้ต้นกล้วย 1 คู่แทน หมายถึงการมีลูกหลานมากมาย และที่ใช้ทั้งกล้วยทั้งอ้อยก็เหฌนกันอยู่บ่อยๆ ส่วนวงกลองยาวและต้นกล้วยต้นอ้อย หากสถานการณ์ ไม่อำนวย ไม่ต้องมีก็ได้ เพราะไม่ใช่องค์ประกอบสำคัญ แต่โดยส่วนมากก็มักจะอยากให้มีประกอบอยุ่ในขบวนด้วยเพื่อความสนุกสนานเฮฮาของทั้งเจ้าภาพและของแขกที่มาร่วมงาน ส่วนใหญ่แล้วผู้ทำหน้าที่ยกข้าวของเครื่อง ขันหมากเอกมักใช้ผู้หญิง ส่วนขันหมากโทจะเป็นชายหรือหญิงทำหน้าที่ยกก็ได้


การกั้นประตู

           เป็นอีกเรื่องที่แรกเริ่มเดิมทีเป็นไปเพื่อความสนุก แต่ภายหลังแทบจะเป็นองค์ประกอบหลักของงานแต่งงานไปทีเดียว การกั้นประตู คือการขวางทางขบวนขันหมากฝ่ายเจ้าบ่าวไว้เมื่อเคลื่อนเข้ามาในเขตบ้านเจ้าสาว โดยใช้คนสองคนถือสิ่งของที่มีลักษณะยาวออกกางกั้นไว้ หากไม่มอบของกำนัลให้ ก็จะไม่ยอมให้ผ่านเข้าไปได้ การกั้นประตูจะต้องทำโดยญาติพี่น้องหรือลูกหลาน
ในครอบครัวเจ้าสาว
ส่วนใหญ่มักทำกัน 3 ครั้ง ครั้งแรกใช้ผ้ากางกั้นไว้ เรียกว่าประตูชัย ประตูที่สองใช้ผืนแพร เรียกว่า ประตูเงิน สุดท้ายกั้นด้วยสายสร้อยทอง เรียกว่า ประตูทอง ในแต่ละประตู เถ้าแก่ ของเจ้าบ่าวจะต้องเจรจาเพื่อมอบของขวัญ (ส่วนมากนิยมใช้ซองใส่เงิน) ก่อนจะผ่านประตูไปได้ ซึ่งมูลค่าของขวัญมักจะต้องสูงขึ้นตามลำดับด้วย


การรับขันหมาก

           เมื่อขบวนขันหมากผ่านเข้ามาจนถึงตัวบ้านแล้ว ฝ่ายเจ้าสาวต้องส่งเด็กผู้หญิงถือพานบรรจุหมากพลูออกมาต้อนรับเถ้าแก่ฝ่ายเจ้าบ่าว เพื่อเป็นการรับขันหมากและเชิญให้เข้าสไปข้างใน เมื่อผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาวออกมาต้อนรับพูดคุย และรับรู้เครื่องของในขบวนแล้ว ก็รับข้าวของเหล่านั้นไว้ และทำการเปิดเตียบ (ในกรณีที่มีเตียบในขบวน) เพื่อจุดธุปเซ่นไหว้ต่อไป รายละเอียด
ขั้นตอนต่างๆ แต่ละท้องถิ่นก็ต่างกันไป ถ้าจะว่ากันโดยสรุปแล้ว เมื่อผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาวนับสินสอดครบถ้วนแล้ว ก็ต่อด้วยการให้เจ้าสาวกราบผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่าย แล้วจัดการเลี้ยงอาหารแขกที่มาร่วมงาน ซึ่งการเตรียมอาหารเป็นหน้าที่ของฝ่ายเจ้าสาว จากนั้นแจกของขวัญหรือซองเงินให้คนยกขันหมากมาในขบวน (รวมทั้งให้ตัวเถ้าแก่ฝ่ายชายด้วย)


การหลั่งน้ำสังข์
           ขั้นตอนการหลั่งน้ำสังข์ให้มีในวันยกขบวนขันหมาก หรือจัดแยกวันไว้ในภายหลังก็ได้ ขึ้นอยู่กับความสะดวก หรือ ฤกษ์ยามโดยเมื่อถึงเวลาที่กำหนด เพื่อนเจ้าบ่าวและเพื่อนเจ้าสาวจะพาคนทั้งสองมานั่งบนแท่นสำหรับหลั่งน้ำ แล้วเชิญประธานในพิธีจุดธูปเทียนจากนั้นสวมมงคลแฝดบนศรีษะเจ้าบ่าวเจ้าสาว แล้วโยงสายสิญจน์ไปยังหม้อน้ำมนต์เจิมหน้าผากด้วย แป้งเจิม แล้วเริ่มหลั่งน้ำสังข์ให้กับคู่บ่าวสาว อาจมีบางแห่งที่ปฏิบัติต่างกันไปบ้าง คือ ให้บ่าวสาวเป็นผู้จุดธูปเทียนบูชาพระแทน การรดน้ำสังข์นั้น จะรดเจ้าบ่าวหรือเจ้าสาวก่อนก็ได้ (แต่นิยมให้เจ้าบ่าวนั่งทางขวามือ)และจะรดบนศรีษะหรือบนมือที่มีพานดอกไม้รองรับอยู่ แต่เพื่อความเรียบร้อยจึงเป็นที่รู้กันว่าการรดบนศรีษะนั้นสงวนไว้ให้สำหรับผู้ใหญ่ประธานในพิธีผู้รดเป็นคนแรก และให้ศีลให้พรไปด้วย จากนั้นก็เป็นผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่าย ซึ่งจะให้พรไปพร้อมกับหลั่งน้ำ ส่วนคิวต่อๆ ไป มักเรียงลำดับตามอาวุโส ที่น่าสังเกตก็คือ ผู้หลั่งน้ำที่อายุรุ่นเดียวกันหรือยังไม่แต่งงานมักไม่นิยมให้พูดจาให้ศีลให้พรแก่คู่บ่าวสาว เมื่อเสร็จสิ้นพิธีการหลั่งน้ำสังข์แล้ว จะจัดให้มีงาน เลี้ยงฉลอง สนุกสนาน
กันอย่างไร สำหรับเรื่องงานเลี้ยงงานแต่งงาน สมัยนี้การที่ฝ่ายเจ้าสาวจะลุกขึ้นมาทำอาหารสำหรับ งานแต่งเห็นจะมีน้อยเต้มที เพราะต้องใช้กำลังคนจำนวนมาก และสถานที่ในบ้านอาจไม่กว้างพอ ดังนั้น การจ้างบริษัทจัดเลี้ยงหรือร้านอาหารให้จัดการให้ จึงเป็นวิธีที่เหมาะกว่า ซึ่งรายการอาหารในงานแต่ง ไม่มีกำหนดตายตัวอะไร แล้วแต่ความชอบในท้องถิ่นหรือในครอบครัว เพียงแค่หลีกเลี่ยงอาหารรสจัดเกินควรและอาหารชื่อไม่เป็นมงคล เช่น ต้มยำต่างๆ ปลาร้าปลาแดก ตีนไก่ หอยขม ที่นิยมกันมาก ได้แก่ ขนมจีน เพราะเป็นเส้นยาว ให้ความหมายถึงชีวิตคู่ที่ยืดยาวนาน ส่วนขนมหวานงานแต่งนั้น นอกจากขนมชื่อมงคลต่างๆ แล้วยังมีขนมโบราณคือ ขนมกง ขนมชะมด และขนมสามเกลอที่มักใช้ในงานแต่งงานอยู่เสมอ ทั้งสามชนิดทำจากแป้งหรือถั่วบด ปั้นและทอดในน้ำมัน แต่ใ่ช้ส่วนผสมและวิธีทำต่างๆ กันไป ซึ่งร้านขนมไทยบางแห่งอาจยังพอทำเป็นอยู่บ้าง


พิธีส่งตัวเข้าหอ

           เรื่องของการเข้าหอโดยหลักๆ ว่าด้วยพิธี 2 อย่าง นั้นคือ การปูที่นอน และการส่งตัว สมัยนี้มีหลายแห่งที่ถึงแม้จะจัดงานแต่งงานตาม ธรรมเนียมไทย แต่ก็ลดขั้นตอนพิธีเข้าหอเพื่อถือเคล็ดว่า บ่าวสาวจะได้มีชีวิตคู่ที่ดีเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ที่เป็นแบบอย่างคู่นี้ เพราะบางทีแต่งไม่ได้ จัดกันที่บ้านของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่จัดในสถานที่จัดงานอื่นๆ ครั้นจะวิ่งวุ่นหนีแขกหรื่อจากงานเลี้ยงฉลอง
เพื่อกลับมาทำพิธีเข้าหอที่บ้านเจ้าสาว (หรือบ้านเจ้าบ่าว) ก็จะเป็นไปได้โดยลำบาก บางรายทีการปลูกเรือนหอเพื่อรอย้ายเข้าไปอยู่ หากยังตกแต่งไม่เสร็จ ็ไม่รู้จะจัดพิธีเข้าหออย่างไร หรือกรณีที่ส่วนมากจัดงานเลี้ยงฉลองกันในโรงแรม โดยเจ้าบ่าวสาวพักค้างคืนเสียเลยในโรงแรมนั้น พิธีการต่างๆ เกี่ยวกับการเข้าหอก็อาจยุ่งยาก เกินกว่าจะเตรียมการได้อย่างครบถ้วน มีข้อสังเกตว่า ตามประเพณีดั้งเดิมนั้น เขาไม่มีการส่งตัวเข้าหอกันในวันแต่งงานทว่าต้องรอฤกษ์ดี สำหรับ การนี้โดยเฉพาะในวันหลัง ซึ่งบางทีนั้นก็อาจจะนอนหลายวันนับจากวันแต่งงานไปอีกก็ได้

พิธีปูที่นอน

           เป็นการจัดปูที่นอนในห้องหอคืนส่งตัว     เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตของคู่บ่าวสาวต่อไปในอนาคตเดิมนั้นพ่อแม่ฝ่ายเจ้าสาว จะเชิญผู้ใหญ่คู่สามีภรรยาซึ่งชีวิตครอบครัวมีความสุขสมบูรณ์ ซื่อสัตย์สุจริต ไม่เคยทะเลาะหรือขัดแย้งกัน ต้องมีลูกแล้วและลูกเป็นคนดีด้วย เพื่อถือเคล็ดว่าเจ้าบ่าวเจ้าสาวจะได้มีชีวิตคู่ที่ดีเช่นเดียวกัน ผู้ใหญ่ที่ทำพิธีปูที่นอนนี้ต้องอาบน้ำให้สะอาด
แต่งตัวเรียบร้อยสวยงามดีก่อน แล้วจึงเข้ามาในห้องหอเพื่อจัดเรียงหมอน 2 ใบ แล้วปัดที่นอนพอเป็นพิธี ไม่จำเป็นต้องปูที่นอนเองทั้งหมด จริงๆ ก็ได้ จากนั้นจัดวางข้าวของ ประกอบพิธีลงบนที่นอนอันได้แก่ หินบดยาหรือหินก้อนเส้าซึ่งใช้ก่อไฟในครัว หมายถึงความหนักแน่น ฟักเขียว หมายถึงความอยู่เย็นเป็นสุขแมวคราว (แมวตัวผู้ที่อายุมากแล้ว) หมายถึงการอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน
พานใส่ถุงข้าเปลือก งา ถั่วทองหรือถั่วเขียว ซึ่งล้วนหมายถึง ความเจริญงอกงาม และขันใส่น้ำฝน เป็นความเย็น ความสดชื่นชุ่มฉ่ำหรือบางแห่งอาจเพิ่มถุงใส่เงินด้วยในระหว่างจัดวางของ จะให้ศิลให้พร ไปด้วย จากนั้นผู้ใหญ่ทั้งคู่ก็จะนอนลงบนที่นอนนั้นฝ่ายหญิงนอนทางซ้าย ฝ่ายชายนอนทางขวา แล้วกล่าวถ้อยคำที่เป็นมงคลต่าง ๆ แก่ชีวิตคู่

การส่งตัว

           แต่ดั้งแต่เดิมมาผู้ใหญ่จะนำเจ้าสาวเข้ามาส่งตัวในห้องหอซึ่งเจ้าบ่าวเข้ามาคอยอยู่ก่อนแล้ว ไม่ใช่ว่าส่งทั้งเจ้าบ่าวเจ้าสาวเข้ามาพร้อมๆ กันเหมือนสมัยนี้ การส่งตัวไม่มีอะไรซับซ้อน ส่วนสำคัญของพิธีอยู่ที่คู่ผู้ใหญ่ซึ่งทำพิธีปูที่นอนนั้นพาเจ้าบ่าวเข้ามาในห้องหอ เจิมหน้าผากอวยพร จากนั้นค่อยนำเจ้าสาวเข้าห้องหอตามมา โดยเจ้าสาวต้องกราบพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่
ฝ่ายของตัวเอง เพื่อเป็นการขอพร เมื่อเจ้าสาวเข้ามา ในห้องหอแล้ว แม่เจ้าสาวต้องเป็นผู้พามามอบให้กับเจ้าบ่าว พร้อมพูดจาฝากฝังให้ช่วยดูแล จากนั้นจะกล่าวให้โอวาทเกี่ยวกับการใช้ชีวิตคู่ ในขั้นตอนนี้ ธรรมเนียมบางท้องถิ่นจะให้พ่อแม่เจ้าสาวเป็นผู้กล่าวบางแห่งก็ให้กล่าวทั้งพ่อแม่เจ้าสาวและเจ้าบ่าว หรือบางแห่งให้ผู้ใหญ่ คู่เดิมซึ่งทำพิธีปูที่นอนเป็นผู้กล่าวแทนพ่อแม่ไปเลยก็มี
ซึ่งพอให้โอวาทจบ ก็ถือเป็นอันเสร็จพิธี


ความเชื่อในประเพณีแต่งงาน
1.นำสิ่งที่เป็นมงคลเข้าบ้าน
 -อันเชิญบารมีพระแก้วมรกต , พระประจำวันเกิดท่านเจ้าของบ้าน,พระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 5 , พระโพธิสัตว์กวนอิม ฯลฯ เข้าบ้าน
-นำน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ 3 วัด พรมเป็นสิริมงคลในงานแต่งงาน
-น้ำล้างมือพ่อแม่ ปะพรมเป็นสิริมงคล ขอพร....ท่าน
-อุ้มแมวสีขาว หรือแมวลาย นำสร้อยทองคำผูกที่คอและเท้า แมวนั้นต้องเป็นแมวคราว ตามความเชื่อ พระราชมนเทียรของกษัตริย์ไทยว่า แมว 9 ชีวิต ชีวิตจะยั่งยืนมั่นคง ร่ำรวย
-หินบด เชื่อว่า ทำให้ชีวิตมีความหนักแน่นขึ้น
-ฟักเงิน ฟักทอง ฟักเขียว เข้าบ้านเสริมสิริมงคล
-พานข้าวเปลือก ถั่ว งา เข้าบ้านเป็นมงคล
-หม้อน้ำเงิน หม้อน้ำทอง เข้าบ้านจะได้มีเงินเต็มโอ่ง ทองเต็มโอ่ง
-ส้มเขียวหวานใส่พาน เชื่อว่า นำความสุขมาให้ครอบครัว
-เทียนคู่หรือตะเคียงคู่เข้าบ้าน จะได้อยู่คู่กันอย่างรุ่งเรืองตลอด
2.นำดอกไม้มงคลเข้าพิธีมงคลสมรส
-ถาด ถั่ว งา ข้าวเปลือก ข้าวโพด เล็ดฟักข้าว
-ใบรัก
-ใบเงิน ใบทอง ใบแก้ว
-ใบมะยม
-ดอกรัก ดอกดาวเรือง ดอกพุธ ดอกบานไม่รู้โรย ดอกกุหลาบ
-ดอกมะลิ ดอกทิวลิบ
-ขวดน้ำอบ รวมในถาดเดียวกัน
3.อาหารวันแต่ง เสริมมงคล
-ขนมจีน รักจะได้ยืนยาว แสดงถึงความผาสุกยืนนาน
-ขนมฝอยทอง เส้นยาว ๆ ทำให้มีเงินมีทองตลอดไป
-บะหมี่หยก เส้นยาว ๆ จะร่ำรวย มีทรัพย์สิน
อาหารห้ามในวันแต่ง
-ห้ามทำต้มยำ -ทะเลาะกันแหลก
-ห้ามทำยำต่าง ๆ -จะไม่ดีขึ้น
-ห้ามทำปลาร้า -จะทำให้เน่า
ห้ามทำแกงบอน -ปากบอน
4.พิธีร่วมเรียงเคียงหมอน
4.1 กราบขอพรกับพ่อแม่ เพื่อเป็นสิริมงคลต่อคู่ชีวิต
4.2 กราบพระแก้วมรกต , รัชกาลที่ 5 กวนอิม , พระประจำเมือง ให้คุ้มครองชีวิตคู่ให้อยู่เย็นเป็นสุข จนถือไม้เท้ายอดทองกระบองยอดเพชร
43 กราบ 6 ทิศ เสริมดวง
- ทิศตะวันออก บอกบิดามาดาให้พร
-ทิศใต้ บอกครูบาอาจารย์ ให้เจริญขึ้น
-ทิศตะวันตก บอกสามี ภรรยา อย่าทะเลาะเบาะแว้งกัน
-ทิศเหนือ บอกมิตรสหาย ให้ช่วยเหลือกัน
-ทิศเบื้องบน บอกสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ภิกษุ สามเณร ให้คุ้มครอง
-ทิศเบื้องล่าง บอกให้บ่าวไพร่ ให้เป็นบริวารที่ดี
5.เคล็ดการปูที่นอน
-เจ้าพิธีจะร้องเรียกว่า
นายบุญมั่น
นายบุญคง
นายบุญรวย
นายบุญสุข ขานรับทุกครั้ง (ใช่ ใช่ ใช่ มี มี มี)
และบิดามารดาเราพร้อมนายบุญทั้ง 4 ทิศ จับมุมผ้าปูนอน และดึง โปรยดอกไม้หอม เหรียญทอง ขอเทพ
คุ้มครองให้ร่มเย็นเป็นสุขเป็นอันเสร็จพิธี

ทรรศนะเกี่ยวกับบทบาทความสำคัญของประเพณีแต่งงานต่อสังคมไทย
     การแต่งงานถือเป็นการเริ่มต้นสำหรับการใช้ชีวิตคู่ ซึ่งจะเกิดขึ้นกับคนในทุกสังคม ทุกชาติ และทุกศาสนา แต่ แต่ละสังคม แต่ละชาติ และแต่ละศาสนา ก็จะมีพิธีกรรมและประเพณีที่แตกต่างกันออกไปนั้นก็ขึ้นอยู่กับกาลเวลาอีกด้วย แต่ที่เหมือนกันนั้นก็คือ ทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชายต้องอยู่ในวัยอันพอเหมาะสมควร มีหน้าที่การงานที่ดีพอที่จะพาครอบครัวให้อยู่รอดได้ และพร้อมที่จะเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่เรียกว่าชีวิตคู่และครอบครัวต่อไป
     ประเพณีแต่งงานของไทยเป็นประเพณีที่สำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะคนเราเกิดมาจากครอบครัวที่แตกต่างกันแต่จะต้องไปใช้ชีวิตร่วมกัน ถือเป็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่ของคน 2 คน ส่วนคนในครอบครัว ญาติพี่น้อง และมิตรสหายก็จะตื่นเต้นดีใจเป็นอย่างมาก ถือเป็นประเพณีที่เป็นมงคล โดยเฉพาะคุณพ่อ คุณแม่ ที่เลี้ยงเรามาจนเติบโตอย่างดียิ่ง แต่วันหนึ่งต้องให้เราไปมีชีวิตคู่กับคนอื่น ท่านคงทั้งดีใจ และใจหายไม่น้อย ในสังคมไทยก็จะมีพิธีต่างๆตามประเพณีแต่งงานมากมาย ซึ่งจะต้องใช้ในการแต่งงานเพราะคนไทยตั้งแต่สมัยโบราณมานั้นให้ความสำคัญกับประเพณีแต่งงานนี้เป็นอย่างยิ่ง ในแต่ละขั้นตอนของพิธีมีรายละเอียดเป็นอย่างมากแต่ในปัจจุบันคนที่ไม่ได้ผ่านพิธีแต่งงานก็มีจำนวนมากเช่นกัน เพราะเดี๋ยวนี้คนเรามองข้ามความสำคัญของการแต่งงานไปเยอะ ตามกาลเวา ทั้งๆที่พิธีแต่งงานเป็นพิธีที่ศักดิ์สิทธิมาก ของใช้ต่างๆจนรวมไปถึงอาหารก็ต้องมีความหมายที่ดีทุกสิ่งอย่าง จะเห็นได้ว่าสังคมไทยให้ความสำคัญของพิธีนี้จึงให้รายละเอียดของของที่ใช้ในงานให้มีแต่ความหมายที่ดีมาก เพื่อการเริ่มต้นชีวิตคู่ต่อไปนั้นปราศจากอุปสรรค์ ซึ่งเป็นความเชื่อที่สำคัญของคนไทย ดังนั้นเวลาที่คนไทยจัดงานแต่งงานจึงต้องมีพิธีการและขั้นตอนต่างๆ อย่างมากมาย โดยจะสังเกตุได้จากการแต่งงานของชาติอื่นๆไม่เห็นต้องมีรายละเอียดขนาดนี้ แต่สำหรับคนไทยนั้นไม่ได้เลย เพราะสังคมไทยให้ความสำคัญกับประเพณีแต่งงานเป็นที่สุดของประเพณีที่เกี่ยวกับชีวิตอีกประเพณีหนึ่งเลยที่เดียว

การปลูกกล้วย

อาหารจากกล้วย

กล้วยเป็นอาหาร
      จะผิดไหมนะ ถ้าพูดว่า "คนไทยทุกคนรู้จักกล้วย" หรือ "คนไทยทุกคนเคยกินกล้วย"คิดว่าคงไม่ผิด นัก อย่างมากก็ถูกไม่หมด
      กล้วยที่พูดถึงอยู่นี้ หมายถึง พืชชนิดหนึ่ง จำพวกต้นเป็นกาบหุ้มแก่น ซึ่งเรียกว่า หยวกใบแบนยาว ดอกเป็นปลี รูปยาวเป็นวง เป็นพืชที่เราได้รับประโยชน์จากแทบทุกส่วนของมัน ไม่ว่าจะเป็น ต้น กาบ ก้าน ใบ ปลี ผล และแม้กระทั่งยางกล้วย จะเว้นอยู่ก็แต่ ราก และเหง้าเท่านั้น
      คน นอกจากกินทุกส่วนของกล้วยเป็นอาหารเช่นเดียวกับช้างแล้ว คนยังนำส่วนต่าง ๆ ของกล้วย มาใช้  ประโยชน์ต่าง ๆ อีกมากมาย
      ต้นกล้วย หรือหยวกกล้วย หรือกาบกล้วย   ใช้ประกอบอาหารได้หลายอย่าง  เช่น  แกงกะทิ แกงเลียง แกงป่า ผัดเผ็ด ห่อหมก เป็นต้น
      ก้านกล้วย เมื่อปลอกเปลือกนอกที่แข็งและเหนียวออกแล้ว จะได้ไส้ในที่อ่อนนุ่มเป็นรูพรุนดั่งฟองน้ำ  มีรสหวานนิด ๆ นำไปหั่นละเอียดใส่เป็นส่วนผสมของอาหารจำพวก ลาบ ลู่ ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มปริมาณ และรสชาติ ได้เป็นอย่างดี
     ใบกล้วย หมายถึง  ใบอ่อน ส่วนที่ฝังอยู่ใจกลางลำต้นกินสด ๆ หรืออาจจะลวกให้นิ่ม จิ้มน้ำพริกกิน กับข้าวอร่อยดีนัก
     ปลีกล้วย   หลายท้องถิ่นนำมาจิ้มน้ำพริกกินกับข้าว ทั้งในรูปผักสด และผักต้ม  บางถิ่นนำมาหั่น ให้ฝอย เป็นผักเคียงกินกับขนมจีน หรือหมี่กะทิ ในขณะที่หลายท้องถิ่นนำไปประกอบอาหาร ประเภทยำ และประเภทต่าง ๆ
     ผลกล้วยดิบ   เรานำกล้วยดิบไปประกอบอาหาร ทั้งอาหารคาว และหวาน อาหารคาว เช่น กล้วยลูกอ่อนต้ม เป็นผักจิ้มน้ำพริก หรือหั่นเป็นแว่นบาง ๆ ดองเป็นผักจิ้ม ทำส้มตำกล้วย ทำแกงเผ็ด เครื่องเคียงแหนมเนือง เป็นต้น      อาหารหวาน  เช่น กล้วยลูกโตพอสมควรนำมาต้มแล้วปลอกเปลือก หั่นเป็นชิ้นโรยมะพร้าวขูด และน้ำตาล หรือนำมาฝานบาง ๆ ทำเป็นกล้วยฉาบ เป็นต้น แต่ถ้าเป็นกล้วยที่ห่ามแล้วก็นำไปทำกล้วยปิ้ง กล้วยเผา กล้วยทับ ฯลฯ
      ผลกล้วยสุก   นอกจากเรากินกล้วยสุกในฐานะผลไม้อย่างดีชนิดหนึ่งแล้วเรายังนำกล้วยสุก ไปประกอบ หรือทำเป็นอาหารหวานชนิดต่าง ๆ ได้สารพัด เช่น กล้วยบวชชี กล้วยเชื่อม กล้วยแขก ข้าวเม่าทอด ข้าวต้มผัด กล้วยกวน ขนมกล้วย เป็นต้น นอกจากนี้อาจทำเป็นกล้วยคืนรูปโดยนำกล้วยสุก ไปลวกน้ำร้อน แล้วนำไปตากให้แห้ง เก็บไว้นาน ๆ เมื่อต้องการใช้ก็นำมาลวกน้ำร้อนอีกครั้งจะคืนสภาพ เหมือนกล้วยสุก ทั่วไป นำไปประกอบอาหารได้ตามวัตถุประสงค์
กล้วยกับการนำมาใช้ประโยชน์ด้านอื่น ๆ
      ต้นกล้วย ใช้ประโยชน์โดยตรงได้หลายอย่าง เช่น นำมาเสียบเรียงติดต่อกันหลาย ๆ ต้น ทำเป็นแพล่องไปในน้ำได้สบาย ๆ หรือไม่ก็ให้เด็กใช้ในการฝึกว่ายน้ำ  ในค่ายมวยหลายแห่งใช้ต้นกล้วยที่ตัดเครือแล้ว มาให้นักมวยฝึกซ้อมต่างกระสอบทรายไม่ว่าจะเตะ ต่อย ตีศอก ตีเข่า ได้ทั้งนั้น  ในภาคอีสานหลายจังหวัดใช้ต้นกล้วยผูกเชือกหัว-ท้าย      ลากในแปลงนาให้ผิวหน้าดินเรียบในการไถคลาดก่อนการหว่านกล้า บางแห่งใช้ต้นกล้วย และกาบกล้วยสด มาสลักหรือที่เรียกว่า การแทงหยวกประดับหีบศพ หรือเมร
      กาบกล้วย   นอกจากนำไปฉีกเป็นเส้นตากให้แห้งทำเป็นเชือกที่เรียกว่า เชือกกล้วย ใช้มัดสิ่งของต่างๆ  แล้วอาจนำมาสาน หรือถักทอ ประดิษฐ์เป็นของใช้ของตกแต่ง หรือของเล่นชนิดต่าง ๆ ได้  ผลกล้วย  กล้วยน้ำว้าสุก ฝานบาง ๆ ใช้ปิดรูรั่วหลังคาสังกะสี ทนเป็นปี ดีนักแล
      ใบกล้วย (ใบตอง)  ทั้งใบตองสดหรือใบตองแห้งนำมาใช้ประโยชน์ได้มากมาย  ใบตองสด สามารถนำมาทำกระทง  บายศรี หรือนำมาห่อขนมต่าง ๆ   หรือนำมารีดให้แห้งเพื่อนำมาใช้มวนบุหรี่สูบ
กล้วยกับการนำมาใช้เป็นยารักษาโรค
       บรรพบุรุษเผ่าพันธุ์ไทย มีภูมิปัญญาอันชาญฉลาด ได้นำส่วนต่าง ๆ ของกล้วยมาใช้รักษาโรค ซึ่งปัจจุบัน ยังคงใช้อยู่บ้าง เช่น ยางกล้วยใช้รักษาบาดแผลสด
       ถ้าเป็นโรคเกี่ยวกับกระเพาะอาหาร  ใช้กล้วยหักมุกดิบบดเป็นผงรับประทานครั้งละ 1-2 ช้อนชา วันละ 4 ครั้ง หรือใช้กล้วยน้ำว้าสุกงอม รับประทานครั้งละ 2 ผลก่อนอาหาร 1-2 ชั่วโมง วันละ 3 ครั้ง จะช่วยผ่อนคลายหนักเป็นเบาได้
       ถ้าท้องอืด ท้องเฟ้อ ใช้กล้วยสุกตากแห้งแล้วบดให้ละเอียด รับประทานครั้งละ 1-2 ช้อนโต๊ะ 4 เวลา ก่อนอาหาร และก่อนนอน รับประทานติดต่อกันเป็นเวลา 7-10 วัน
       ถ้าเป็นบิดเรื้อรัง   ใช้กล้วยห่ามครึ่งผลผสมกับน้ำมะขามเปียก และเกลือ 1 ช้อนชา รับประทานวันละ 3 ครั้ง ๆ ละ 1 ช้อนชา
       ถ้าต้องการมีอายุวัฒนะ อาจใช้กล้วยสุกงอมกับน้ำผึ้งเดือนห้า รับประทานครั้งละ 1-2 ผล หรือกล้วย สุกงอมหนึ่งหวีผสมกับมะตูมสุก 5 ผล บดผสมกับน้ำผึ้งเดือนห้า ปั้นเป็นเม็ดเท่าเมล็ดพุทรา รับประทาน ครั้งละ 1-2 เม็ดก่อนนอน หรือใช้กล้วยน้ำ หรือกล้วยน้ำว้าสุกงอมแช่น้ำผึ้ง 20 วัน แล้วรับประทานวันละ 1 ผลเป็นต้น
       นอกจากจะใช้เป็นยารักษาโรคดังกล่าวมาแล้วกล้วยยังนำมาเสริมสร้างสุขภาพของมนุษย์ในด้านต่าง ๆ เช่น  คั้นน้ำจากต้นกล้วยใช้ทากันผมร่วงก็ได้ เปลือกกล้วยหอมสุกใช้ด้านในถูส้นเท้าหรือฝ่าเท้าที่แตก วันละ 3-4 ครั้ง  เหง้ากล้วยน้ำว้า 1 กำมือ ต้ม 10-15 นาที ดื่มวันละ 4-5 ครั้ง ทำให้ถ่ายปัสสาวะดีขึ้น

พันธุ์กล้วย

พันธุ์กล้วยในประเทศไทย โดย รองศาสตราจารย์เบญจมาศ ศิลาย้อย
          ประเทศไทยมีการปลูกกล้วยกันมาช้านาน กล้วยที่ปลูกมีมากมายหลายชนิด พันธุ์กล้วยที่ใช้ปลูกในประเทศไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณนั้น มีทั้งพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิม และนำเข้ามาจากประเทศใกล้เคียง กล้วยที่รู้จักกันในสมัยสุโขทัยคือ กล้วยตานี  และปัจจุบันในจังหวัดสุโขทัยก็ยังมีการปลูกกล้วยตานีมากที่สุด แต่เรากลับไม่พบกล้วยตานีในป่า ทั้งๆ ที่กล้วยตานีก็เป็นกล้วยป่าชนิดหนึ่ง มีถิ่นกำเนิดอยู่ทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย จีน และพม่า ดังนั้นจึงสันนิษฐานว่า กล้วยตานีน่าจะนำเข้ามาปลูกในประเทศไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัยตอนต้น หรือช่วงการอพยพของคนไทยมาตั้งถิ่นฐานที่สุโขทัย

          ในสมัยอยุธยา เดอลาลูแบร์  (De La Loub`ere)  อัครราชทูตชาวฝรั่งเศสที่เดินทางมาเมืองไทยในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อ พ.ศ. ๒๒๓๐ ได้เขียนบันทึกถึงสิ่งที่เขาได้พบเห็นในเมืองไทยไว้ว่า ได้เห็นกล้วยงวงช้าง ซึ่งก็คือ  กล้วยร้อยหวีในปัจจุบัน ที่ส่วนใหญ่ปลูกไว้เพื่อเป็นไม้ประดับนั่นเอง  นอกจากนี้ยังมีตำนานเล่ากันมาว่า มีการค้าขายกล้วยตีบอีกด้วย แสดงให้เห็นว่า ได้มีการปลูกกล้วยทั้งเพื่อความสวยงาม และเพื่อการบริโภคกันมาช้านานแล้ว

          ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๗ ในรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ซึ่งเป็นปรมาจารย์ทางด้านภาษาไทย ได้เขียนหนังสือ พรรณพฤกษากับสัตวาภิธาน เพื่อเป็นแบบเรียนภาษาไทยสำหรับใช้ในโรงเรียน กล่าวถึงชื่อของพรรณไม้และสัตว์ชนิดต่างๆ ที่มีอยู่ในเมืองไทย  โดยเรียบเรียงเป็นกาพย์ฉบัง ๑๖ เพื่อให้ไพเราะและจดจำได้ง่าย ในหนังสือดังกล่าว มีข้อความที่พรรณนาถึงชื่อกล้วยชนิดต่างๆ ไว้

          จากกาพย์ดังกล่าว ทำให้เราได้ทราบชนิดของกล้วยมากขึ้น แสดงให้เห็นถึงความนิยมในการปลูกกล้วยในสมัยนั้น ทั้งนี้เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสประเทศต่างๆ หลายประเทศ จึงได้มีการนำกล้วยบางชนิดเข้ามาปลูกในรัชสมัยของพระองค์

          หลังจากที่นักวิชาการชาวตะวันตกได้ เริ่มจำแนกชนิดของกล้วยตามลักษณะทางพันธุกรรม โดยใช้จีโนมของกล้วยเป็นตัว  กำหนดในการแยกชนิดตามวิธีของซิมมอนดส์ และเชบเฟิร์ด ดังได้กล่าวแล้วข้างต้น จึงกล่าวได้ว่า กล้วยที่บริโภคกันอยู่ในปัจจุบันมีบรรพบุรุษอยู่เพียง  ๒  ชนิดเท่านั้น คือ กล้วยป่า และกล้วยตานี กล้วยที่มีกำเนิดจากกล้วยป่ามีจีโนมทางพันธุกรรมเป็น  AA  ส่วนกล้วยที่มีกำเนิดจากกล้วยตานีมีจีโนมเป็น BB และกล้วยลูกผสมของทั้ง ๒ ชนิด  มีจีโนมเป็น  AAB, ABB,  AABB และ ABBB นอกจากนี้ ซิมมอนดส์ยังได้จำแนกชนิดของกล้วยในประเทศไทยว่ามีอยู่  ๑๕  พันธุ์

          ต่อมานักวิชาการไทยได้ทำการศึกษา ค้นคว้าเกี่ยวกับพันธุ์และชนิดของกล้วย คือ ใน พ.ศ. ๒๕๑๐  วัฒนา เสถียรสวัสดิ์  และปวิณ ปุณศรีได้ทำการรวบรวมพันธุ์กล้วยที่พบในประเทศได้ ๑๒๕ สายพันธุ์ และจากการจำแนกจัดกลุ่มแล้ว พบว่ามี ๒๐  พันธุ์หลังจากนั้นในระหว่าง พ.ศ. ๒๕๒๓ - ๒๕๒๖  เบญจมาศ  ศิลาย้อย และฉลองชัย แบบประเสริฐ แห่งภาควิชาพืชสวน  มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์  ได้ทำการสำรวจพันธุ์กล้วยในประเทศไทย และรวบรวมพันธุ์ไว้ที่สถานีวิจัยปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา โดยรวบรวมได้ทั้งหมด ๓๒๓ สายพันธุ์ แต่เมื่อจำแนกชนิดแล้ว พบว่ามีอยู่เพียง ๕๓ พันธุ์  หลังจากสิ้นสุดโครงการ  ยังได้ทำการรวบรวมเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน พบว่ามีอยู่ ๗๑ พันธุ์  รวมทั้งกล้วยป่าและกล้วยประดับ ทั้งนี้ไม่นับรวมพันธุ์กล้วยที่ได้มีการนำเข้ามาจากต่างประเทศ  ซึ่งมีอีกหลายพันธุ์ ปัจจุบันกล้วยในเมืองไทย ซึ่งจำแนกชนิดตามจีโนม มีดังนี้

ประวัติของกล้วย

น่ารัก
ประวัติความเป็นมาของกล้วย
น่ารัก


ในเอกสารโบราณกล่าวว่า  กล้วยเป็นผลไม้ของชาวอินเดีย  พบมีอยู่มากในแถบเอเชียตอนใต้  โดยเฉพาะทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย  พม่า  เขมร  จีนตอนใต้  หมู่เกาะอินโดนีเซีย  เกาะบอร์เนียว  ฟิลิปปินส์  และไต้หวัน
กล้วยในประเทศที่กล่าวถึงนั้น  เป็นกล้วยป่าที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ  ซึ่งต่อมาเมื่อมนุษย์สังเกตเห็นว่าสัตว์ต่างๆ  กินกล้วยเป็นอาหารได้  มนุษย์จึงลองกินกล้วยดู  และเมื่อเห็นว่ากล้วยกินเป็นอาหารได้  มนุษย์จึงเริ่มรู้จักวิธีการขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด  หน่อ  ติดตัวไปยังสถานที่ที่อพยพไป  ทำให้กล้วยแพร่หลายไปยังถิ่นต่างๆ  มากยิ่งขึ้น  จนมีผู้กล่าวว่า  กล้วยเป็นอาหารชนิดแรกของมนุษย์  และเป็นพืชชนิดแรกที่มีการปลูกเลี้ยงไว้ตามบ้าน
ในพระพุทธศาสนา  มีการวาดภาพต้นกล้วยในงานจิตรกรรม  ในภาพวาดเป็นการนำกล้วยไปสักการะพระเจ้ากาละ
จีนโบราณมีการบันทึกไว้ว่า  มีกล้วยอยู่  12  ชนิด  ได้แก่  ปารู  กัน-เชียว  ยาเชียว  ปาเชียว  นันเชียว  เทียนเชียว  ชีเชียว  ชุงเชียว  เมเจนเชียว  โปโชวเชียว  ยังเชียวเชียว  ยูฟูเชียว  กล้วยเหล่านี้ปลูกมากที่กวางตุ้ง  ฟูเกียง  ฯลฯ
กล้วยมีเส้นทางการเผยแพร่ราวกับนิยาย  เมื่อประมาณ  ปี  ค.ศ.200  บริเวณเมดิเตอร์เรเนียนยังไม่มีการปลูกกล้วย  จนถึง  ค.ศ.650  เมื่อชาวอาหรับเดินทางติดต่อค้าขายกับแอฟริกา  พวกอาหรับได้นำกล้วยมาเผยแพร่ที่แอฟริกาด้วย
ในราวศตวรรษที่  15  เมื่อชาวยุโรปเดินทางไปยังดินแดนต่างๆ  เพื่อ  การสำรวจและแสวงหาดินแดนใหม่  ณ  เวลานั้นปรากฏว่า  แถบชายฝั่งของแอฟริกาตะวันตก  ประชาชนนิยมปลูกกล้วยกันอย่างแพร่หลาย
การเดินทางของกล้วยมิได้หยุดอยู่แค่นั้น  เพราะในปี  ค.ศ. 1400  ชาวโปรตุเกสซึ่งเป็นนักเดินเรือผู้เก่งกล้าสามารถได้นำกล้วยไปยังหมู่เกาะคานารีด้วย
ปัจจุบันหมู่เกาะคานารีเป็นแหล่งปลูกกล้วยที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก  หมู่เกาะนี้ในเวลาต่อมาได้รับการยกย่องว่าเป็นเกาะประวัติศาสตร์ของการแพร่พันธุ์กล้วยสู่โลกใหม่
ความเป็นมาของกล้วยในประเทศไทยในตอนแรกได้กล่าวไปบ้างแล้วว่า  กล้วยเป็นพืชเก่าแก่ที่อยู่คู่กับคนไทยมานานแสนนาน  และโดยทางประวัติศาสตร์แล้ว  ประเทศไทยของเราเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ซึ่งถือว่าเป็นถิ่นกำเนิดสำคัญของกล้วยป่าขึ้นชุกชุม
กล้วยที่ถือว่าเป็นพันธุ์ดั้งเดิมของไทย เป็นกล้วยที่ขึ้นอยู่ในบริเวณภาคใต้ของไทย  ได้แก่  กล้วยไข่ทองร่วง  กล้วยเล็บมือนาง  เป็นต้น
ประเทศไทยมีกล้วยหลากหลายพันธุ์  และสันนิฐานกันว่า  คนไทยเป็นชนชาติที่อพยพมาจากจีนตอนใต้  ซึ่งจีนตอนใต้นี้มีอาณาเขตอยู่ทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย   ดังนั้นการอพยพของคนไทยจึงเป็นไปได้ว่าได้นำพันธุ์กล้วยที่เป็นสายพันธุ์จากอินเดียและจีนนำติดตัวมาด้วย  ทั้งนั้นเพราะกล้วยเป็นพืชที่ปลูกง่ายให้ผลเร็ว  เหมาะสำหรับนำติดตัวปลูกไว้เป็นอาหารยามขาดแคลน
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้เคยมีการสำรวจสายพันธุ์กล้วยในประเทศไทย  พบว่ามีสายพันธุ์กล้วยในประเทศไทยมากถึง 323  สายพันธุ์


ความเป็นมาของกล้วย

ส่วนประกอบของกล้วย

 ต้นกล้วย
                   ต้นกล้วย ต้นกล้วยส่วนที่เราเห็นโผล่พ้นจากดินนั้น อันที่จริงเป็นก้านใบของกล้วย ในทางวิชาการถือว่าเป็นลำต้นเทียมประกอบด้วย ก้านใบจำนวนมากอัดกันแน่นเป็นชั้นๆชั้นนอกสุดมีความแข็ง และเหนียวมากกว่าก้านใบที่อยู่ด้านใน จากผลการวิเคราะห์ส่วนประกอบทางเคมีของต้นกล้วย โดยกลุ่มงานวิเคราะห์อาหารสัตว์ กองอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์ พบว่า ต้นกล้วยสดมีน้ำเป็นส่วนประกอบประมาณ 95 เปอร์เซ็นต์ มีปริมาณโปรตีนคิดจากน้ำหนักแห้งเพียง 2.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่ง ใกล้เคียงกับฟางข้าว มีเยื่อใยคิดจากน้ำหนักแห้ง 26.1เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตามระดับเยื่อใยในต้นกล้วยค่อนข้างต่ำ จึงสามารถใช้ต้นกล้วยเป็นอาหารเลี้ยงสุกร ซึ่งเป็นสัตว์กระเพาะเดี่ยวได้ นอกจากนั้นยังพบว่า ต้นกล้วยมีระดับแร่ธาตุแคลเซียม ประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ โปแตสเซียมประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ ฟอสฟอรัส 0.1 เปอร์เซ็นต์ แมกนีเซียมประมาณ 0.42 เปอร์เซ็นต์ แร่ ธาตุแมงกานีส ทองแดง เหล็ก และสังกะสีประมาณ 2.87 0.05 6.37 และ1.41 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักแห้ง 100 กรัม ตามลำดับ
                    การใช้ต้นกล้วยเลี้ยงสัตว์ จึงทำให้สัตว์ได้รับแร่ธาตุ และวิตามินต่างๆด้วย เนื่องจากต้นกล้วยสดมีปริมาณน้ำเป็นส่วน ประกอบมากต้นอ่อนๆของกล้วย มีเยื่อใยต่ำการนำต้นกล้วยสดสับผสมฟางข้าว หรือหญ้าแห้งเลี้ยง โค-กระบือ  ในฤดูแล้งจะทำให้ โค-กระบือ กินอาหารได้มากขึ้น สัตว์สามารถประทังความหิวได้ และได้รับสารอาหารปลีกย่อย เช่น แร่ธาตุ และวิตามินต่างๆมากขึ้น อาจจะทำให้ โค-กระบือ สามารถเจริญเติบโตตามปกติ ตลอดช่วงฤดูแล้งในแต่ละปี


 ใบกล้วย หรือ ใบตอง
          ใบกล้วย ใบกล้วยสด มีสีเขียวเข้ม มีวัตถุแห้งประมาณ 28 เปอร์เซ็นต์ และมีน้ำมากถึง 72 เปอร์เซ็นต์ มีสารอาหารที่สำคัญ เช่น โปรตีนคิดจากน้ำหนักแห้งประมาณ 12 เปอร์เซ็นต์ มีเยื่อใยประมาณ 24 เปอร์เซ็นต์ เปรียบเทียบคุณค่าทางอาหารของใบกล้วยสด กับพืชอาหารสัตว์อื่นๆจะเห็นว่า ใบกล้วยสดมีระดับโปรตีนใกล้เคียงกับหญ้าขนสด (ใบกล้วยมีโปรตีนคิดจากนน้ำหนักแห้ง 12 เปอร์เซ็นต์ หญ้าขนมีโปรตีน 10 เปอร์เซ็นต์ โดยประมาณ) ส่วนใบของกล้วยไม่รวมก้านใบมี โปรตีนใกล้เคียงกับพืชตระกูลถั่ว ใบสดของต้นกล้วยจึงเป็นผลพลอยได้ที่น่าจะนำมาใช้เป็นอาหารหยาบสำหรับเลี้ยง โค-กระบือ ร่วมกับฟางข้าว และหญ้าแห้ง จะทำให้โค-กระบือกินอาหารมากขึ้น การนำใบกล้วยหั่นเป็นฝอยตากแห้งแล้ว นำมาผสมอาหารข้นเลี้ยงสุกร หรือสัตว์ปีก อาจจะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่น่าจะลดต้นทุนการผลิตได้ เนื่องจากใบกล้วยมีเยื่อใยสูงไม่มากนัก สัตว์กระเพาะเดี่ยวสามารถใช้ประโยชน์ได้มากพอสมควร ข้อน่าสังเกตอีกประการหนึ่งคือ ใบกล้วยมีระดับ ไขมันค่อนข้างสูง น่าจะใช้เป็นแหล่งพลังงานสำหรับสัตว์ได้ค่อนข้างดีแหล่งหนึ่ง ประโยชน์อีกอย่างของใบกล้วยหรือใบตองก็คือ
            ใบตอง...ในวิถีชีวิตของคนไทยในทุกหนแห่ง  ได้นำใบตองมาใช้ประโยชน์ได้มากมายทั้งในชีวิตประจำวัน  ในพิธีกรรมต่างๆ การบวงสรวงต่าง เช่นทำบายศรี กระทง  กรวย  มาลัย ห่อขนม ห่ออาหาร   ที่รองอาหาร  หรือวางขนม  ทำเป็นภาชนะใส่อาหาร  ปลาตะเพียน  ใบตองแห้งนำมาเป็นที่มวนบุหรี่  สานเป็นที่ใส่ของ  กระเป๋า  

   ปลีกล้วย  
          ปลีกล้วย.. คือดอกรวมที่มีกาบขนาดใหญ่ห่อหุ้มอยู่ภานนอกเรียงตัวทับซ้อนกันแน่นเป็นรูปดอกบัวตูมทรงสูง  แต่ดอกกล้วยที่แท้จริงก็คือส่วนที่เป็นหลอดสีเหลืองที่ติดและเรียงตัวอยู่รอบแกนขนาดใหญ่รวมกันเป็นช่อดอกแต่ละช่อจะถูกแบ่งกั้นด้วยกาบที่มีสีน้ำตาลแดงเป็นชั้นๆ กล้วยหนึ่งดอกจะเจริญเป็นผลกล้วยเพียงหนึ่งผลกล้วยหนึ่งช่อก็คือกล้วยหนึ่งหวี  และกล้วยหลายๆหวีมารวมกันเราเรียกว่ากล้วยหนึ่งเครือ

   ผลกล้วย
       ผลกล้วยทั้งหมดที่ออกจากช่อดอกเรียกว่า  “เครือ”ส่วนผลกล้วยจากกลุ่มดอกแต่ละกลุ่มเรียกว่า  “หวี” (Hand)

สรรพคุณของกล้อย

1. โรคโลหิตจาง ในกล้วยมีธาตุเหล็กสูงจะเป็นตัวช่วยกระตุ้นการผลิตฮีโมโกลบินในเลือด และจะช่วยในกรณีที่มีสภาวะขาดกำลัง หรือภาวะโลหิตจาง

2. โรคความดันโลหิตสูง มีธาตุโปรแตสเซียมสูงสุด แต่มีปริมาณเกลือต่ำ ทำให้เป็นอาหารที่สมบูรณ์แบบที่สุดที่จะช่วยความดันโลหิตมาก อย.ของอเมริกา ยินยอมให้อุตสาหกรรมการปลูกกล้วยสามารถ โฆษณาได้ว่า กล้วยเป็นผลไม้พิเศษช่วยลดอันตรายอันเกิดจากเรื่องความดันโลหิตหรือโรคเส้นเลือดฝอยแตก

3. กำลังสมอง นักเรียน 200 คน ที่โรงเรียน Twickenham ได้รับผลดีจากการสอบตลอดปีนี้ ด้วยการรับประทานกล้วย ในมื้ออาหารเช้า ตอนพัก และมื้ออาหารกลางวันทุกวัน เพื่อช่วยส่งเสริมกำลังของสมองในพวกเขา จากงานวิจัยแสดง ให้เห็นว่าปริมาณโปรแตสเซียมที่มีอยู่เต็มเปี่ยมในกล้วยสามารถให้นักเรียนมีการตื่นตัวในการเรียนมากขึ้น

4. โรคท้องผูก ปริมาณเส้นใยและกากอาหารที่มีอยู่ในกล้วยช่วยให้การขับถ่ายเป็นปกติ และยังช่วยแก้ ปัญหาโรคท้องผูกโดยไม่ต้องกินยาถ่ายเลย

5. โรคความซึมเศร้า จากการสำรวจเร็ว ๆ นี้ ในจำนวนผู้ที่มีความทุกข์เกิดจากความซึมเศร้าหลายคนจะมี ความรู้สึกที่ดีขึ้นมากหลังการกินกล้วย เพราะมีโปรตีนชนิดที่เรียกว่า try potophan เมื่อสารนี้เข้าไปในร่างกายจะ ถูกเปลี่ยนเป็น serotonin เป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นตัวผ่อนคลายปรับปรุงอารมณ์ให้ดีขึ้นได้ คือทำให้เรารู้สึกมีความสุขเพิ่มขึ้นนั่นเอง

6. อาการเมาค้าง วิธีที่เร็วที่สุดที่จะแก้อาการเมาค้าง คือ การดื่มกล้วยปั่นกับนมและน้ำผึ้ง กล้วยจะทำให้ กระเพาะของเราสงบลง ส่วนน้ำผึ้งจะเป็นตัวช่วยหนุนเสริมปริมาณน้ำตาลในเส้นเลือดที่หมดไปในขณะที่นมก็ช่วย ปรับระดับของเหลวในร่างกายของเรา

7. อาการเสียดท้อง กล้วยมีสารลดกรดตามธรรมชาติที่มีผลต่อร่างกายของเรา ถ้าปัญาเกี่ยวกับอาการเสียด ท้อง ลองกินกล้วยสักผล คุณจะรู้สึกผ่อนคลายจากอาการเสียดท้องได้

8. ความรู้สึกไม่สบายในตอนเช้า การกินกล้วยเป็นอาหารว่างระหว่างมื้ออาหาร จะรักษาระดับน้ำตาลใน เส้นเลือดให้คงที่ เพื่อหลีกเลี่ยงความรู้สึกไม่สบายในตอนเช้า

9. ยุงกัด ก่อนใช้ครีมทาแก้ยุงกัด ลองใช้ด้านในของเปลือกกล้วยทาบริเวณที่ถูกยุงกัด มีหลายคนพบอย่าง มหัศจรรย์ว่า เปลือกกล้วยสามารถแก้เม็ดผื่นคันที่เกิดจากยุงกัดได้

10. ระบบประสาท ในกล้วยมีวิตามินบี สูงมาก ช่วยทำให้ระบบประสาทสงบลงได้ โรคน้ำหนักเกินและโรคที่ เกิดในที่ทำงาน จากการศึกษาของสถาบันจิตวิทยาในออสเตรียค้นพบว่า ความกดดันในที่ทำงานเป็นเหตุนำไปสู่ การกินอย่างจุบจิบ เช่นอาหารพวกช็อคโกแล็ต และอาหารประเภททอดกรอบต่าง ๆ ในจำนวนคนไข้ 5,000 คน ในโรงพยาบายต่าง ๆ นักวิจัยพบว่า ส่วนใหญ่เป็นโรคอ้วนมากเกินไป และส่วนใหญ่ทำงานภายใต้ความกดดันสูง มาก จากรายงานสรุปว่า เพื่อหลีกเลี่ยงการตื่นตระหนกและนำไปสู่การกินอาหารอย่างบ้าคลั่ง เราจึงต้องควบคุม ปริมาณน้ำตาลในเส้นเลือด ด้วยการกินอาหารว่างที่มีปริมาณคาร์โบโฮเดรตสูง เช่น กินกล้วยทุก 2 ชั่วโมง เพื่อรักษาปริมาณน้ำตาลให้คงที่ตลอดเวลา ไม่ต้องคำนึงถึงเรื่อยยา การกินกล้วยที่มีวิตามินบี 6 ซึ่งประกอบด้วย สารควบคุมระดับกลูโคสที่สามารถมีผลต่ออารมณ์ได้

11. โรคลำไส้เป็นแผล กล้วยเป็นอาหารที่แพทย์ใช้ควบคุม เพื่อต้านทานการเกิดโรคลำไส้เป็นแผล เพราะ เนื้อของกล้วยมีความอ่อนนิ่มพอดี เป็นผลไม้ชนิดเดียวที่ทานได้ง่าย ๆ ไม่ยุ่งยากสำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องโรค ลำไส้เรื้อรัง และกล้วยยังมีสภาพเป็นกลางไม่เป็นกรด ทำให้ลดการระคายเคือง และยังไปเคลือบผนังลำไส้และ กระเพาะอาหารด้วย

12. การควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ในวัฒนธรรมของหลายแห่งเห็นว่ากล้วย คือผลไม้ที่สามารถทำให้ อุณหภูมิเย็นลงได้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะอุณหภูมิของอารมณ์ของคนที่เป็นแม่ที่ชอบคาดหวัง ตัวอย่างในประเทศไทย จะให้ผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์รับประทานกล้วยทุกวันเพื่อให้แน่ใจว่า ทกรกที่เกิดมา จะมีอุณหภูมิเย็น