จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

อาหารจากกล้วย

กล้วยเป็นอาหาร
      จะผิดไหมนะ ถ้าพูดว่า "คนไทยทุกคนรู้จักกล้วย" หรือ "คนไทยทุกคนเคยกินกล้วย"คิดว่าคงไม่ผิด นัก อย่างมากก็ถูกไม่หมด
      กล้วยที่พูดถึงอยู่นี้ หมายถึง พืชชนิดหนึ่ง จำพวกต้นเป็นกาบหุ้มแก่น ซึ่งเรียกว่า หยวกใบแบนยาว ดอกเป็นปลี รูปยาวเป็นวง เป็นพืชที่เราได้รับประโยชน์จากแทบทุกส่วนของมัน ไม่ว่าจะเป็น ต้น กาบ ก้าน ใบ ปลี ผล และแม้กระทั่งยางกล้วย จะเว้นอยู่ก็แต่ ราก และเหง้าเท่านั้น
      คน นอกจากกินทุกส่วนของกล้วยเป็นอาหารเช่นเดียวกับช้างแล้ว คนยังนำส่วนต่าง ๆ ของกล้วย มาใช้  ประโยชน์ต่าง ๆ อีกมากมาย
      ต้นกล้วย หรือหยวกกล้วย หรือกาบกล้วย   ใช้ประกอบอาหารได้หลายอย่าง  เช่น  แกงกะทิ แกงเลียง แกงป่า ผัดเผ็ด ห่อหมก เป็นต้น
      ก้านกล้วย เมื่อปลอกเปลือกนอกที่แข็งและเหนียวออกแล้ว จะได้ไส้ในที่อ่อนนุ่มเป็นรูพรุนดั่งฟองน้ำ  มีรสหวานนิด ๆ นำไปหั่นละเอียดใส่เป็นส่วนผสมของอาหารจำพวก ลาบ ลู่ ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มปริมาณ และรสชาติ ได้เป็นอย่างดี
     ใบกล้วย หมายถึง  ใบอ่อน ส่วนที่ฝังอยู่ใจกลางลำต้นกินสด ๆ หรืออาจจะลวกให้นิ่ม จิ้มน้ำพริกกิน กับข้าวอร่อยดีนัก
     ปลีกล้วย   หลายท้องถิ่นนำมาจิ้มน้ำพริกกินกับข้าว ทั้งในรูปผักสด และผักต้ม  บางถิ่นนำมาหั่น ให้ฝอย เป็นผักเคียงกินกับขนมจีน หรือหมี่กะทิ ในขณะที่หลายท้องถิ่นนำไปประกอบอาหาร ประเภทยำ และประเภทต่าง ๆ
     ผลกล้วยดิบ   เรานำกล้วยดิบไปประกอบอาหาร ทั้งอาหารคาว และหวาน อาหารคาว เช่น กล้วยลูกอ่อนต้ม เป็นผักจิ้มน้ำพริก หรือหั่นเป็นแว่นบาง ๆ ดองเป็นผักจิ้ม ทำส้มตำกล้วย ทำแกงเผ็ด เครื่องเคียงแหนมเนือง เป็นต้น      อาหารหวาน  เช่น กล้วยลูกโตพอสมควรนำมาต้มแล้วปลอกเปลือก หั่นเป็นชิ้นโรยมะพร้าวขูด และน้ำตาล หรือนำมาฝานบาง ๆ ทำเป็นกล้วยฉาบ เป็นต้น แต่ถ้าเป็นกล้วยที่ห่ามแล้วก็นำไปทำกล้วยปิ้ง กล้วยเผา กล้วยทับ ฯลฯ
      ผลกล้วยสุก   นอกจากเรากินกล้วยสุกในฐานะผลไม้อย่างดีชนิดหนึ่งแล้วเรายังนำกล้วยสุก ไปประกอบ หรือทำเป็นอาหารหวานชนิดต่าง ๆ ได้สารพัด เช่น กล้วยบวชชี กล้วยเชื่อม กล้วยแขก ข้าวเม่าทอด ข้าวต้มผัด กล้วยกวน ขนมกล้วย เป็นต้น นอกจากนี้อาจทำเป็นกล้วยคืนรูปโดยนำกล้วยสุก ไปลวกน้ำร้อน แล้วนำไปตากให้แห้ง เก็บไว้นาน ๆ เมื่อต้องการใช้ก็นำมาลวกน้ำร้อนอีกครั้งจะคืนสภาพ เหมือนกล้วยสุก ทั่วไป นำไปประกอบอาหารได้ตามวัตถุประสงค์
กล้วยกับการนำมาใช้ประโยชน์ด้านอื่น ๆ
      ต้นกล้วย ใช้ประโยชน์โดยตรงได้หลายอย่าง เช่น นำมาเสียบเรียงติดต่อกันหลาย ๆ ต้น ทำเป็นแพล่องไปในน้ำได้สบาย ๆ หรือไม่ก็ให้เด็กใช้ในการฝึกว่ายน้ำ  ในค่ายมวยหลายแห่งใช้ต้นกล้วยที่ตัดเครือแล้ว มาให้นักมวยฝึกซ้อมต่างกระสอบทรายไม่ว่าจะเตะ ต่อย ตีศอก ตีเข่า ได้ทั้งนั้น  ในภาคอีสานหลายจังหวัดใช้ต้นกล้วยผูกเชือกหัว-ท้าย      ลากในแปลงนาให้ผิวหน้าดินเรียบในการไถคลาดก่อนการหว่านกล้า บางแห่งใช้ต้นกล้วย และกาบกล้วยสด มาสลักหรือที่เรียกว่า การแทงหยวกประดับหีบศพ หรือเมร
      กาบกล้วย   นอกจากนำไปฉีกเป็นเส้นตากให้แห้งทำเป็นเชือกที่เรียกว่า เชือกกล้วย ใช้มัดสิ่งของต่างๆ  แล้วอาจนำมาสาน หรือถักทอ ประดิษฐ์เป็นของใช้ของตกแต่ง หรือของเล่นชนิดต่าง ๆ ได้  ผลกล้วย  กล้วยน้ำว้าสุก ฝานบาง ๆ ใช้ปิดรูรั่วหลังคาสังกะสี ทนเป็นปี ดีนักแล
      ใบกล้วย (ใบตอง)  ทั้งใบตองสดหรือใบตองแห้งนำมาใช้ประโยชน์ได้มากมาย  ใบตองสด สามารถนำมาทำกระทง  บายศรี หรือนำมาห่อขนมต่าง ๆ   หรือนำมารีดให้แห้งเพื่อนำมาใช้มวนบุหรี่สูบ
กล้วยกับการนำมาใช้เป็นยารักษาโรค
       บรรพบุรุษเผ่าพันธุ์ไทย มีภูมิปัญญาอันชาญฉลาด ได้นำส่วนต่าง ๆ ของกล้วยมาใช้รักษาโรค ซึ่งปัจจุบัน ยังคงใช้อยู่บ้าง เช่น ยางกล้วยใช้รักษาบาดแผลสด
       ถ้าเป็นโรคเกี่ยวกับกระเพาะอาหาร  ใช้กล้วยหักมุกดิบบดเป็นผงรับประทานครั้งละ 1-2 ช้อนชา วันละ 4 ครั้ง หรือใช้กล้วยน้ำว้าสุกงอม รับประทานครั้งละ 2 ผลก่อนอาหาร 1-2 ชั่วโมง วันละ 3 ครั้ง จะช่วยผ่อนคลายหนักเป็นเบาได้
       ถ้าท้องอืด ท้องเฟ้อ ใช้กล้วยสุกตากแห้งแล้วบดให้ละเอียด รับประทานครั้งละ 1-2 ช้อนโต๊ะ 4 เวลา ก่อนอาหาร และก่อนนอน รับประทานติดต่อกันเป็นเวลา 7-10 วัน
       ถ้าเป็นบิดเรื้อรัง   ใช้กล้วยห่ามครึ่งผลผสมกับน้ำมะขามเปียก และเกลือ 1 ช้อนชา รับประทานวันละ 3 ครั้ง ๆ ละ 1 ช้อนชา
       ถ้าต้องการมีอายุวัฒนะ อาจใช้กล้วยสุกงอมกับน้ำผึ้งเดือนห้า รับประทานครั้งละ 1-2 ผล หรือกล้วย สุกงอมหนึ่งหวีผสมกับมะตูมสุก 5 ผล บดผสมกับน้ำผึ้งเดือนห้า ปั้นเป็นเม็ดเท่าเมล็ดพุทรา รับประทาน ครั้งละ 1-2 เม็ดก่อนนอน หรือใช้กล้วยน้ำ หรือกล้วยน้ำว้าสุกงอมแช่น้ำผึ้ง 20 วัน แล้วรับประทานวันละ 1 ผลเป็นต้น
       นอกจากจะใช้เป็นยารักษาโรคดังกล่าวมาแล้วกล้วยยังนำมาเสริมสร้างสุขภาพของมนุษย์ในด้านต่าง ๆ เช่น  คั้นน้ำจากต้นกล้วยใช้ทากันผมร่วงก็ได้ เปลือกกล้วยหอมสุกใช้ด้านในถูส้นเท้าหรือฝ่าเท้าที่แตก วันละ 3-4 ครั้ง  เหง้ากล้วยน้ำว้า 1 กำมือ ต้ม 10-15 นาที ดื่มวันละ 4-5 ครั้ง ทำให้ถ่ายปัสสาวะดีขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น